xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตในอะพาร์ตเมนต์ญี่ปุ่น-อเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ย้ายบ้านทีไรฉันก็อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมทุกที ไหน ๆ แล้วก็เลยว่าเอาเรื่องอะพาร์ตเมนต์แบบห้องนอนเดี่ยวที่เคยอยู่ในญี่ปุ่นกับอเมริกามาเล่าเสียหน่อยก็น่าจะดี แม้จะเป็นห้องสี่เหลี่ยมเหมือนกัน แต่อะพาร์ตเมนต์สองประเทศนี้ก็ให้ความรู้สึกต่างกันราวฟ้ากับดินเลยทีเดียว

ขนาด
อะพาร์ตเมนต์ญี่ปุ่นมักชวนให้รู้สึกถึงความ “พอเพียง” ด้วยขนาดพื้นที่อันจำกัด กระนั้นการจัดวางพื้นที่ใช้สอยก็เป็นสัดส่วนและคุ้มค่าแทบทุกกระเบียดนิ้ว สามารถใช้งานได้หลากหลายตามที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างยูนิตบาร์ธซึ่งเป็นห้องอาบน้ำและสุขาในพื้นที่เดียวกัน แม้จะแคบแต่ก็พอสำหรับอาบน้ำได้ พอนั่งสุขาได้ พอล้างหน้าล้างมือได้ ถ้าเป็นอะพาร์ตเมนต์ที่มีพื้นที่มากกว่าหน่อย ก็อาจมีห้องอาบน้ำและห้องสุขาแยกกัน แต่โดยมากก็ยังเป็นพื้นที่คอนเซ็ปต์เดิมคือพอเพียง

“ยูนิตบาร์ธ” ภาพจาก https://owners.sumaity.com
เพดานของอะพาร์ตเมนต์ในญี่ปุ่นค่อนข้างต่ำ จนบางทีก็รู้สึกอึดอัดเหมือนอยู่ในกล่องเตี้ย ๆ ชวนให้สงสัยว่าถ้าเป็นฝรั่งตัวสูงใหญ่คงต้องคอยก้มศีรษะทุกครั้งที่เดินในบ้าน เว้นแต่จะเป็นอะพาร์ตเมนต์แบบมีชั้นลอยต่ำ ๆ ที่ต้องปีนขึ้นไปด้วยบันไดลิง ซึ่งเพดานห้องจะสูงกว่าปกติเพราะรวมความสูงของชั้นลอยเข้าไปด้วย ทำให้รู้สึกโล่งกว่ามาก น่าจะเหมาะกับคนตัวสูงใหญ่มากกว่าอะพาร์ตเมนต์ทั่วไป

อะพาร์ตเมนต์แบบมีชั้นลอย ภาพจาก https://biz-journal.jp
หากเจอคนญี่ปุ่นหรือคนไทยในญี่ปุ่นที่บอกว่าบ้านตัวเองเล็ก ขอให้เชื่อได้ว่านั่นไม่ได้เป็นการพูดถ่อมตัวแต่อย่างใด ไม่อย่างนั้นหากคิดจะไปขออยู่อาศัยด้วย ก็อาจต้องตกใจและอาจอึดอัดที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนอย่างใกล้ชิดแบบไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเลย บางคนทนไม่ไหวจนต้องไปหาโรงแรมอยู่แทน

ตัวอย่างอะพาร์ตเมนต์แบบ 1LDK (1 ห้องนอน + 1 พื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร และครัว)  ภาพจาก https://resources.realestate.co.jp

ตัวอย่างอะพาร์ตเมนต์แบบ 1R (ไม่มีห้องนอนแยกต่างหาก) พื้นที่ 18.22 ตร.ม.  ภาพจาก https://realestate.co.jp
ในขณะเดียวกันอะพาร์ตเมนต์ในอเมริกาเท่าที่ฉันเคยอยู่หรือไปดูมา ออกจะมีพื้นที่ชวนให้รู้สึกโล่งโปร่ง อีกทั้งเพดานก็สูงกว่าที่ญี่ปุ่นมากจนสามารถยกไม้ตีลูกเทนนิสซ้อมท่าเสิร์ฟได้ (แต่อย่าตบลูกทีเดียวเชียว) และถ้าเป็นอะพาร์ตเมนต์ที่มี 2 ห้องนอนก็มักจะมีห้องอาบน้ำ 2 ห้องตามไปด้วย

แต่แม้อาจจะดูกว้างกว่าที่ญี่ปุ่น ทว่าพื้นที่ใช้สอยอาจไม่ได้คุ้มค่าทุกตารางนิ้ว หรือไม่เป็นสัดส่วนเข้าที่เข้าทาง บางจุดก็กว้างแบบเกินจำเป็น บางจุดก็ติดเสาทำให้ใช้งานได้จำกัด บางจุดก็เหลือพื้นที่แบบไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากนัก

ตัวอย่างสตูดิโออะพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์ก (ญี่ปุ่นจะเรียกว่า 1R)  พื้นที่ 36.5 ตร.ม. ภาพจาก https://www.apartments.com
                                                  พื้นที่อะพาร์ตเมนต์ในญี่ปุ่นและอเมริกาโดยเฉลี่ย


ฉันรู้สึกว่าอะพาร์ตเมนต์แบบห้องเดียวของญี่ปุ่นให้ความรู้สึก “เป็นส่วนตัว” เสมือนอยู่ในห้องนอนตัวเอง ส่วนของอเมริกาจะให้ความรู้สึก “ต้อนรับแขก” เพิ่มมาด้วย อาจจะเพราะคนญี่ปุ่นมีโลกส่วนตัวสูงกว่า ในขณะที่คนอเมริกันจะชอบปาร์ตี้ ชวนเพื่อนมาบ้าน อาจเพราะอย่างนี้ก็ได้จึงทำให้ขนาดและการออกแบบพื้นที่ใช้สอยต่างกัน ฉันเดานะคะ

พอชินกับชีวิตในญี่ปุ่นแล้วย้ายมาอเมริกา ฉันรู้สึกไม่สบายใจที่อะพาร์ตเมนต์ในอเมริกาไม่มี “เก็งคัง” (玄関) ซึ่งเป็นโถงทางเข้าที่เป็นพื้นต่างระดับและเป็นที่ใส่-ถอดรองเท้า ทำให้ไม่อาจแยกพื้นที่สกปรกกับพื้นที่สะอาดออกจากกันได้ชัดเจน ฉันเลยเอาเทปกาวมาลากเส้นแบ่งเขตแดนเอาเอง เพื่อให้รู้ว่าพ้นจากเส้นนี้ไปอย่าก้าวล้ำเข้ามาโดยไม่ถอดรองเท้า แต่ก็มักเหนื่อยใจเวลาช่างซ่อมบำรุงต้องเข้ามาทำโน่นนี่ในห้องบ่อยครั้ง และใส่รองเท้าเดินเข้ามาเลย ตามสไตล์คนอเมริกันที่ใส่รองเท้าเดินไปมาในบ้าน พอเขาออกไป เราก็เลยต้องคว้าเครื่องดูดฝุ่นและไม้ถูพื้นชุบน้ำยามาทำความสะอาดกันยกใหญ่

“เก็งคัง” ภาพจาก https://hokuohkurashi.com
เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้าน

อะพาร์ตเมนต์ญี่ปุ่นมักใช้พื้นไม้ และบางห้องก็ปูด้วยเสื่อทาตามิ ชวนให้รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติธรรมดา ตามกำแพงมักติดวอลเปเปอร์แบบหนานุ่มและมีพื้นผิวขรุขระ ทำให้สามารถเอาหมุดปักติดกระดาษโน้ต หรือติดกระดานเสียบหมุดแปะข้อความได้ แม้เอาหมุดออกก็ไม่เห็นวอลเปเปอร์เป็นรูชัดเจน อีกทั้งวอลเปเปอร์ก็ทำให้ห้องดูดีด้วย

เวลาเช่าอะพาร์ตเมนต์ที่ญี่ปุ่นมักไม่ค่อยมีเครื่องใช้ให้ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องซักผ้า ราวตากผ้า หลอดไฟ โคมไฟ ม่าน ตู้กับข้าว บางแห่งกระทั่งเครื่องปรับอากาศหรือเตาแก๊สก็อาจต้องไปซื้อมาติดเอง เวลาย้ายออกก็ต้องถอดหรือขนย้ายเครื่องใช้ที่ตัวเองเอามาติดออกไปให้เหลือเพียงห้องโล่ง ๆ ตามเดิม แต่ก็มีบางแห่งเหมือนกันที่เจ้าของอาจมีเฟอร์นิเจอร์บางอย่างไว้ให้ 

เพื่อนฉันสังเกตว่าตามจุดต่าง ๆ ในอะพาร์ตเมนต์อาจมีสติกเกอร์ระบุข้อความแปะไว้เพื่อความปลอดภัยหรือบ่งชี้วิธีใช้งาน จึงช่วยไปถ่ายรูปมาให้ดูตามตัวอย่างข้างล่าง


1)  หน้าต่างห้อง “กรุณาล็อคแผ่นมุ้งลวดไว้เพื่อกันหล่น” และมีคำอธิบายวิธีถอดและติดมุ้งลวดด้วย
2)  ประตูห้องอาบน้ำ “อย่าปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ เล่นในห้องอาบน้ำตามลำพัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเด็กจมน้ำ” (ในห้องอาบน้ำของญี่ปุ่นจะมีอ่างอาบน้ำค่อนข้างลึกไว้สำหรับแช่ตัว)
3)  ประตูเปิดออกไปที่ระเบียง ระบุวิธีการใช้งานติดไว้เนื่องจากเป็นระบบล็อคสองชั้นพิเศษ (เข้าใจว่าเพื่อกันเด็กเล็กเปิดออกไปเล่นซนแล้วตกระเบียง)


ส่วนในอเมริกาบางอะพาร์ตเมนต์เขาโฆษณาว่าเป็น “อะพาร์ตเมนต์หรู” แต่อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ บางแห่งก็ปูพื้นปาเก้ที่เก่ามาก ไม้บางแท่งก็หลุด และบางทีก็มีเสี้ยน ส่วนกำแพงก็อาจบางจนได้ยินเสียงห้องข้าง ๆ คุยกัน กำแพงยังมักเป็นแบบทาสีขาวเรียบ ๆ พอคนย้ายออกเขาก็มาทาสีทับให้ดูใหม่ บางทีสีก็กระเด็นไปอยู่จุดอื่นเป็นหย่อม ๆ พอเห็นความไม่เนี้ยบหลายส่วน เลยไม่ค่อยรู้สึกถึงความหรูเท่าใดนัก

เวลาเขาโฆษณาว่า “หรู” นั้น บางทีก็ระบุว่าครัวและอ่างล้างหน้าในห้องน้ำเป็นเคาน์เตอร์แกรนิต แต่ด้วยความที่มันมีสีดำ สีเทา หรือสีน้ำตาลปะปนกัน ก็ทำให้มองไม่เห็นว่ามีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกติดอยู่ จึงเผลอนึกว่าสะอาดดีเลยไม่ได้ทำความสะอาดบ่อย โดยส่วนตัวฉันชอบแบบญี่ปุ่นที่นิยมใช้วัสดุสีขาวมากกว่า เพราะดูสะอาดตาและเห็นสิ่งสกปรกได้ชัดเจน กระตุ้นให้อยากทำความสะอาดในบัดดล

ครัวเคาน์เตอร์แกรนิต ภาพจาก https://www.tripadvisor.com
แม้จะเป็นแบบห้องนอนเดียว อะพาร์ตเมนต์ในอเมริกาก็ยังมีตู้เย็นขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มแบบขนาดครอบครัวให้ พร้อมตู้กับข้าวแบบ built-in ไว้ให้ใส่จานชามและอาหารแห้งอย่างจุใจ รวมทั้งเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า เตาอบ ไมโครเวฟ และเครื่องล้างจานไว้ให้ด้วย และมีเครื่องปรับอากาศ ส่วนเครื่องซักผ้าและเครื่องปั่นผ้าให้แห้งอาจมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถติดตั้งเองแบบบ้านญี่ปุ่นได้ เพราะเขาไม่ได้ติดตั้งท่อน้ำไว้ให้สำหรับติดตั้งเครื่องซักผ้าได้ แต่ต้องใช้เครื่องหยอดเหรียญที่มีในอะพาร์ตเมนต์ หรือไม่ก็ตามร้านเครื่องซักผ้า

ที่รู้สึกแปลกคือที่อเมริกาไม่ได้มีหลอดไฟติดอยู่บนเพดานเหมือนญี่ปุ่นหรือไทย เว้นแต่เป็นหลอดไฟที่ประตูทางเข้า ในครัว และในห้องน้ำ นอกนั้นต้องไปหาซื้อโคมไฟมาติดตั้งเองแบบเดียวกับไฟตามห้องโรงแรม ส่วนญี่ปุ่นมีหลายบ้านที่ใช้หลอดไฟปรับแสงได้หลายระดับ ทั้งแบบสว่างจัด สว่างครึ่งเดียว และสลัว ๆ บางแบบต้องดึงเชือกที่ห้อยมาจากหลอดไฟบนเพดานเอาเพื่อปรับความสว่าง แต่สมัยนี้ใช้รีโมทเลือกปรับระดับได้

อยู่ในญี่ปุ่นยังอาจเห็นถังดับเพลิงอยู่ภายในอะพาร์ตเมนต์ด้วย เช่น บริเวณทางเดินที่ใช้ร่วมกัน หรือไม่ก็ภายในแต่ละห้องเอง ภายในห้องยังอาจมีเครื่องตรวจจับควันติดไว้ที่เพดาน จึงอาจไม่เหมาะทำหมูกระทะภายในห้อง เพื่อนฉันสังเกตว่าบนเพดานอะพาร์ตเมนต์ของเขามีสติกเกอร์แปะไว้ว่าเป็น “วัสดุกึ่งไม่ติดไฟ” ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งรับรองว่าวัสดุนี้จะไม่ไหม้ไฟเป็นเวลา 10 นาทีเมื่อถูกความร้อนจากไฟปกติ ไม่เปลี่ยนรูปเสียหายเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และไม่ก่อให้เกิดควันหรือก๊าซที่เป็นอันตรายระหว่างอพยพหนีเมื่อเกิดเพลิงไหม้


1)  ถังดับเพลิงอยู่ตามระเบียงทางเดินของอะพาร์ตเมนต์
2)  สติกเกอร์แปะเพดานบ่งบอกว่าใช้วัสดุกึ่งไม่ติดไฟ


ที่อเมริกาฉันยังไม่เคยเห็นถังดับเพลิงในอะพาร์ตเมนต์ของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นเครื่องตรวจจับควันก็ทำงานดีเยี่ยม เพียงแค่ห้องใดห้องหนึ่งเผลอทำอาหารไหม้หรือควันฟุ้ง หรือเปิดประตูห้องแง้มไว้แล้วควันออกมาตามระเบียงทางเดิน ไม่ทันไรก็จะได้ยินเสียงรถหวอดังโหมมาแต่ไกล และมาพร้อมกันทีละ 3-4 คัน ที่ผ่านมามักไม่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้จริง ทำให้นักดับเพลิงมาเสียเที่ยวอยู่เสมอ อีกทั้งผู้อยู่อาศัยก็ชินเสียแล้ว ทำให้แม้ทางตึกจะประกาศให้เดินลงมาจากห้อง แต่ก็แทบไม่มีใครลงมา ฉันกลัวว่าถ้าประมาทกันแบบนี้ วันหนึ่งอาจต้องสูญเสียกันยกใหญ่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นจริง

ที่เล่ามานี้ก็เป็นเพียงข้อสังเกตในอะพาร์ตเมนต์เท่าที่ฉันเคยอยู่หรือเคยเห็นมาเท่านั้นนะคะ อะพาร์ตเมนต์แบบอื่นซึ่งต่างจากที่เล่ามาก็คงจะมีทั้งในสองประเทศ แต่ก็หวังว่าเพื่อนผู้อ่านจะพอเห็นภาพอะพาร์ตเมนต์ส่วนหนึ่งในญี่ปุ่นและอเมริกา พอเป็นความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้บ้าง

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันเช่นเคยนะคะ แล้วพบกันอีกสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 
กำลังโหลดความคิดเห็น