xs
xsm
sm
md
lg

“ปณิธาน” วิเคราะห์พม่าภัยมั่นคงหรือไม่ ชูศักยภาพแนะทิศทางจัดการ ชี้ คนไทยไร้ฝ่ายทำระบบป้องกันดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ปณิธาน” วิเคราะห์พม่าเป็นภัยมั่นคงหรือไม่ ยกเป็นชาติเข้มแข็งมีศักยภาพในอาเซียน เด่นทรัพยากรภูมิยุทธศาสตร์ ทหารยุทโธปกรณ์ ภูมิใจตนเองสูงระแวงต่างชาติ วิกฤตในชาติกระทบไทยมีปัญหาล้ำแดน แนะทิศทางจัดการในอนาคต มองคนไทยร่วมมือไม่มีฝ่ายทำให้ระบบป้องกันประเทศดีขึ้น

วันนี้ (3 ก.ค.) รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ เมียนมาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของไทยหรือไม่? และไทยจะจัดการกับปัญหาตามแนวชายแดนให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยมีเนื้อหาดังนี้

สัปดาห์นี้ หลายท่านคงได้ติดตามข่าวเครื่องบินรบของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (The Republic of the Union of Myanmar) บินล้ำเข้ามาในไทย เมื่อเวลา 11.59 น. ของวันที่ 30 มิ.ย. 2565 บริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนในพื้นที่ สร้างความกังวล ความไม่พอใจ หรือความสับสนให้กับประชาชนอีกหลายกลุ่ม

รัฐบาล กองทัพอากาศ และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจไปแล้วหลายรอบ รวมทั้งที่ว่าได้มีการขอโทษกันไปแล้ว สัปดาห์หน้าก็คงจะมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ทำการสรุปและถอดบทเรียนในครั้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อวางแผนและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แต่จะประสบผลสำเร็จมากน้อยหรือเป็นทหรือสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้เพียงพอหรือไม่ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

ในระยะสั้น ทั้งสองประเทศก็คงทำความเข้าใจกันได้เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ในระยะยาว คำถามสำคัญที่จะอยู่ในใจของคนไทยทั่วไปก็คือ “เมียนมาหรือพม่าเป็นภัยคุกคามต่อไทยหรือไม่” และ “ไทยเราจะจัดการกับปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนนี้ ที่ทั้งทับซ้อนและซับซ้อน รวมทั้งเป็นชายแดนที่ยาวที่สุดของเราประมาณ 2,401 กิโลเมตรนี้ ให้ดีขึ้นได้อย่างไร”

เราคงต้องใช้เวลาตอบคำถามเหล่านี้กันนานพอสมควร ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นข้างล่างนี้ให้ชัดเจนขึ้นครับ

1. พื้นฐานความเข้มแข็งของเมียนมา มากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

เมียนมาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ประมาณ 676,578 ตร.กม. (ใหญ่กว่าไทยที่มีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตร.กม.) ที่สำคัญ เมียนมามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และหลากหลายมากกว่าไทย โดยเฉพาะด้านพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่ไทยต้องนำเข้ามาจากเมียนมามากกว่า 20% ของปริมาณการใช้ในไทยโดยเฉลี่ยในแต่ละปีที่ผ่านมา เมียนมายังมีทรัพยากรแรงงานจำนวนมาก (ประมาณเกือบ 70% ของประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน) ซึ่งในจำนวนนี้หลายล้านคนทำงานอยู่ในไทยและเป็นกำลังสำคัญในฐานรากของเศรษฐกิจของเรา อีกทั้งเมียนมายังมีทรัพยากรน้ำจากแม่น้ําใหญ่หลายสาย เช่น แม่น้ำอิระวดี ที่มีต้นน้ำจากธารน้ำแข็งบริเวณเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำสาละวิน ที่นอกจากมีต้นน้ำเหมือนกับอิระวดีแล้ว ยังมีความยาวเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รองมาจากแม่น้ำโขง แม่น้ำสะโตง ที่มีความกว้างบางช่วงจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งถึง 3 กิโลเมตร เป็นต้น รวมทั้งเมียนมายังมีพืชพรรณธรรมชาติ อัญมณี แร่ธาตุสำคัญๆ มากมายหลายชนิด รวมทั้งมีป่าไม้ที่มียังมีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกทางตอนกลางและตอนล่างของที่เป็นที่ราบลุ่ม สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก

ในทางภูมิยุทธศาสตร์ เมียนมาเป็นที่สนใจของมหาอำนาจและหลายประเทศ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ โดยเฉพาะจีน ที่ใช้เมียนมาเป็นช่องทางเลือกการออกสู่ทะเล และเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย คู่แข่งสำคัญของจีน ยาวถึง 1,468 กม. ทั้งจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ได้ประโยชน์อย่างมากจากการเป็นคู่ค้าที่เกินดุลกับเมียนมา ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ราย ส่วนรัสเซีย ประเทศอดีตบริวารสหภาพโซเวียตเก่า รวมทั้งอิสราเอล สิงคโปร์ และเกาหลีเหนือ ก็มีรายงานว่าเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทหารอย่างลับๆ กับเมียนมามานานแล้ว ในอนาคต เมื่อโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (One belt one road) เสร็จสมบูรณ์ และเมื่อสหรัฐอเมริกาดำเนินยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) เข้มข้นขึ้น และเมื่ออินเดียทะยานขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับจีนและสหรัฐฯในการเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่ง ความสำคัญของเมียนมาในเชิงที่ตั้งหรือภูมิรัฐศาสตร์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี

ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ เหล่านี้ เมียนมาจึงมีศักยภาพพื้นฐานที่จะแข็งแรงเจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอหากสามารถแก้ปัญหาภายในประเทศได้ ในอดีตจึงปรากฏหลักฐานการอาศัยของมนุษย์สมัยแรก (Homo erectus) ในบริเวณนี้ ต่อมามีชนชาติพันธุ์ต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์ศักราช และมาเจริญรุ่งเรืองมากแบบนครรัฐภายใต้อาณาจักรพุกาม (ท่านไหนยังไม่เคยไป ควรจะไปเที่ยวชมนะครับ) จนสามารถทำสงครามเอาชนะไทยได้หลายครั้งแม้แต่ในช่วงที่อาณาจักรอยุธยากำลังขยายอิทธิพล ในยุครัฐสมัยใหม่ในช่วงอาณาจักรอังวะ-หงสาวดี พม่าก็ยังเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง แต่มาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสมัยตองอูในยุคราชวงศ์อลองพญาในปี พ.ศ. 2428 เพราะปรับตัวไม่ทันและไม่แยบยลเหมือนสยาม ปัจจุบันถึงแม้ว่าเมียนมากำลังประสบกับวิกฤตหลายประการ รวมทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เกื้อหนุนหลายประการเหล่านี้ ธนาคารโลกก็ยังคาดการณ์ว่าเมียนมายังคงจะเติบโตได้อีก และจริงๆ ในช่วงไม่กี่ปีผ่านมาแม้ว่ามีวิกฤตหลายประการ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ถือว่าเร็วและสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศที่กำลังพัฒนา

ในทางการทหาร เมียนมามีกำลังทหารประมาณกว่า 400,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นทหารบก ซึ่งกองทัพเมียนมา (Tatmadaw) มีขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของภูมิภาค และที่สำคัญ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของประเทศอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่ได้รับเอกราช และได้ทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด สงครามที่นับกันว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดลำดับต้นๆ ในโลกสมัยใหม่ ดังนั้น Tatmadaw จึงมีประสบการณ์ในการรบและมีความเข้มแข็งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ นักวิเคราะห์บางคนจึงประเมินว่า หากทหารเมียนมามีอันเป็นไป หรือต้องยุติบทบาทลง สงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยก็ไม่น่าจะยุติลงได้ ในทางกลับกัน อาจจะเกิดการสู้รบที่รุนแรงและขยายตัวมากขึ้นอีก

ทหารเมียนมานั้น ได้สะสมยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไว้มากพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นอาวุธสำหรับทำสงครามกลางเมืองและการสู้รบตามแนวชายแดน แต่เคยมีรายงานว่าเมียนมาสนใจและได้เริ่มดำเนินการพัฒนาศักยภาพทางด้านนิวเคลียร์ด้วยการช่วยเหลือของรัสเซียและเกาหลีเหนือ แต่ปัจจุบัน เมียนมามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น จึงจัดหายุทโธปกรณ์สมัยใหม่มากขึ้น ทั้งจากจีน รัสเซีย ปากีสถาน เบลารุส และประเทศอื่นๆ เช่น รถหุ้มเกราะ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ เรือรบสมัยใหม่ เรือดำน้ำ และเครื่องบินขับไล่สมัยใหม่ รวมทั้ง MiG-29B หรือ MiG-29UB ที่เราเห็นในข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งก็เป็นเครื่องบินรบที่รัสเซียเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2528 (37 ปีแล้ว) ซึ่งเมียนมาสั่งซื้อเข้ามาประจำการจำนวนหนึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน และได้สั่งซื้อเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ต่อมาได้ทำการปรับปรุงอุปกรณ์และอาวุธของเครื่องบินดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพอากาศของไทยก็น่าจะคุ้นเคยกับการที่กองทัพอากาศเมียนมามีเครื่องบินดังกล่าวอยู่ในประจำการมาหลายปีแล้ว

2. ความขมขื่นและหวาดระแวงของพม่าที่มีต่อต่างชาติ

เมียนมามีชนชาติที่มีความภูมิใจในตนเองสูง และประสบความสำเร็จในการสร้างอาณาจักรในอดีตมายาวนาน แต่ในช่วงที่พม่าเป็นเมืองขึ้นอังกฤษถึง 63 ปี หรือกว่าชั่วอายุคนนั้น (ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491) ชาวเมียนมาส่วนใหญ่มีความรู้สึกขมขื่นอย่างลึกซึ้งกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะที่เรื่องที่ถูกกดขี่และปิดกั้นขนบธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติดั้งเดิม และถูกบังคับชี้นำในเรื่องต่างๆ แบบตะวันตก รวมทั้งที่ต้องอยู่ในกำกับของ British East India Company จึงมีการชุมนุมและประท้วงอังกฤษบ่อยครั้ง บางครั้งก็นำโดยพระสงฆ์ชาวพม่าที่เคร่งครัดในศาสนาพุทธ นอกจากนั้น พม่ายังถูกยึดครองและครอบงำทางเศรษฐกิจโดยชาวอินเดียที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในช่วงที่พม่าต้องอยู่ในอาณัติของอังกฤษผ่านอินเดีย นับเป็นการทำให้เป็นอาณานิคมซ้อนทับในเวลาเดียวกันที่ยากจะลืม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าก็ถูกยึดครองและกระทำการทารุณโหดร้ายต่างๆ โดยญี่ปุ่นอยู่อีกหลายปี การที่ญี่ปุ่นสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” อันเลื่องลือโดยการเกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร (อังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู พม่า อินเดีย รวมหลายหมื่นคนมาก่อสร้างทางรถไฟจากราชบุรีและกาญจนบุรีไปที่เมืองเมืองตาน-พยูซะยะ เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลไปโจมตีอังกฤษในพม่าและอินเดียนั้น ก็ทำให้เชลยศึกและกรรมกรเหล่านั้นต้องเสียชีวิตลงจำนวนหลายหมื่นคน ก็ทำให้พม่ารู้สึกไม่ดีกับญี่ปุ่น ไทย และพันธมิตรตะวันตกมาเป็นเวลานาน ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ชาวเมียนมาส่วนมากมีความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจชาวต่างชาติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับประเทศที่เข้าไปแสวงประโยชน์จากทรัพยากรของเขา เมียนมาจึงมีนโยบายปิดประเทศ โดดเดี่ยวตนเอง หรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น และพร้อมที่จะกลับไปทำแบบนั้นอยู่เสมอถ้าจำเป็นหรือถูกกดดัน

คนไทยน่าจะเข้าใจและเห็นใจชาวเมียนมาในเรื่องอิสรภาพและเอกราชเป็นอย่างดี เพราะไทยเคยต่อสู้กับประเทศที่เป็นนักล่าอาณานิคมในอดีตมาแล้ว และคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงตระหนักถึงอิทธิพลของต่างชาติอยู่ในปัจจุบัน แต่ไทยก็ไม่ได้หันหลังให้กับนานาชาติ ยังเปิดประเทศและร่วมมือกับสากลในบริบทและความถนัดของเราเอง โดยเฉพาะในยามจำเป็น ทำให้เราไม่ค่อยมีศัตรูในเวทีโลก ดังนั้น ในยามที่เมียนมาถูกกีดกันจากหลายประเทศและมีเพื่อนไม่มากในเวทีระหว่างประเทศ ไทยก็ได้สนับสนุนให้เมียนมาได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน หรือเมื่อพม่าเข้ามาในอาเซียนแล้ว ถูกกีดกันไม่ให้มีบทบาทมากนัก ไทยก็ได้พยายามเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาเซียนเข้มแข็งขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและไทยดีขึ้นจนมาถึงทุกวันนี้

3. วิกฤตของเมียนมาในยุคหลังอาณานิคมและผลกระทบต่อไทย

ประวัติศาสตร์ของพม่า เต็มไปด้วยเรื่องการต่อสู้เพื่อสร้างรัฐสร้างชาติ รักษาเอกราช เอกภาพ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และยังคงไม่สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ และหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง หลายประเทศเริ่มตั้งหลักได้ แต่พม่าก็เข้าสู่ความวุ่นวายทางการเมืองอีก รวมทั้งเกิดสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทยและเมียนมา ทำให้ไทยต้องใช้นโยบายรัฐกันชนอยู่หลายปี ในปี 2490 มีการลอบสังหารผู้นำและวีรบุรุษในการต่อสู้เพื่อเอกราช พลตรีอองซาน (บิดานางอองซานซูจี ที่ถือกันว่าเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยพม่าในปัจจุบัน) หลังจากนั้น ก็เกิดการยึดอำนาจและปกครองโดยทหาร มีการปิดประเทศอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี

ในปี 2532 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายขึ้น พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นเมียนมา เพื่อให้สื่อความหมายถึงการปรองดองกับกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ แทนที่จะเป็นเพียงชนชาติพม่าแต่พียงอย่างเดียว(ประมาณ 68% ของประชากร) เพราะยังมีไทยใหญ่ (9%) กะเหรี่ยง (7%) ยะไข่ (4%) จีน (3%) อินเดีย (2%) มอญ (2%) และอื่น ๆ (5%) ด้วยตามนโยบายสมานฉันท์และการสร้างเอกภาพของประเทศที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอยู่กว่า 100 ภาษา และก็ได้มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนระบอบไปเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลพลเรือน (ที่ทหารยังคงมีอำนาจมาก) ประมาณ 10 ปี (2554-2564) ซึ่งในตอนนั้น หลายฝ่ายก็คิดว่าเมียนมากำลังก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ และจะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพและเจริญเติบโตได้ตามปกติ

แต่เมื่อต้นปีที่แล้ว ก็เกิดวิกฤตทางการเมืองในเมียนมาอีกครั้ง และเมียนมาก็กลับไปใช้ระบอบทหารปกครองประเทศอีก แต่ครั้งนี้มีชาวเมียนมาลุกขึ้นมาต่อต้านทหารเมียนมามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้นานาชาติ สหประชาชาติ รวมทั้งอาเซียนมีข้อมติต่างๆ เพื่อกดดันให้ทหารพม่ายุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ นอกจากจะมีการปราบปรามอย่างรุนแรงแล้ว ยังมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและกองกำลังของประชาชนเพื่อสู้รบกับทหารพม่าขึ้นด้วยจากการสนับสนุนของหลายฝ่าย รวมทั้งจากมหาอำนาจและพันธมิตร ทำให้เกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารพม่าและคนที่สนับสนุนรัฐบาลกับกองกำลังของประชาชนที่จัดตั้งใหม่ เพิ่มเติมไปจากการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่เดิม ซึ่งก็เข้มแข็งขึ้น มีการใช้ยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่ต่างฝ่ายก็ได้ไปจัดหาหรือได้รับการสนับสนุนมามากขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และมีผู้หนีภัยจากการสู้รบลักลอบเข้าไทยเพิ่มอีกจากเดิมที่มีอยู่แล้ว จนเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานจากสื่อต่างๆว่า ปัจจุบันน่าจะมีชาวเมียนมาหลบหนีเข้ามาอยู่ในไทยเป็นจำนวนรวมทั้งหมดหลายแสนคนหรือน่าจะเป็นล้านคนแล้ว

วิกฤตในเมียนมาครั้งนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าครั้งก่อนๆ ทั้งด้านความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านมนุษยธรรม และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ไทยต้องระมัดระวังมากขึ้น และต้องดำเนินการตามมติของสหประชาชาติ อาเซียน และตามหลักเพื่อนบ้านที่ดี ควบคู่กันไปอย่างสมดุลพร้อมๆกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศคิดว่าไทยสามารถมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เหตุเพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกๆฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งทางการไทยก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือเมียนมาทางด้านมนุษยธรรมแล้ว และพร้อมที่จะช่วยเหลือเมียนมาเพิ่มเติมเมื่อได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากประชาชนชาวไทย ที่ส่วนใหญ่แล้วยังคงเดือดร้อนกับปัญหาปากท้องอยู่เป็นสำคัญ

4. การล้ำแดนไทยโดยเพื่อนบ้าน

ในยุคสมัยใหม่ เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้วที่มีการสู้รบกันในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย ไม่วาจะเป็นสงครามต่อต้านหรือปลดปล่อยเพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม สงครามต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ที่มีมหาอำนาจเข้ามาปฏิบัติการรบโดยตรง สงครามระหว่างคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง ที่มีมหาอำนาจหนุนหลังแต่ละฝ่าย และสงครามกลางเมืองของชนชาติพันธุ์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ที่มีอีกหลายชาติเข้าไปสนับสนุนและเกี่ยวข้องมาอย่างยาวนาน

ทุกครั้งที่มีกองกำลังต่างชาติรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ทหารไทยก็ได้ผลักดันให้กองกำลังเหล่านั้นกลับออกไป บางครั้งก็ทำให้ทหารไทยต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็เป็นการทำตามหน้าที่โดยปกติ รวมทั้งรัฐบาลไทยทุกรัฐบาล ก็ได้ใช้มาตราการทางการทูตที่เหมาะสมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อประจานประนามกดดันและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

เช่น ไทยเคยเสนอให้สหประชาชาติลงมติต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ในช่วงปี 2521-2534 กดดันเวียดนามที่มีรัสเซียหนุนหลังอยู่ ให้ถอนกำลังที่มาประชิดหรือลุกล้ำพรมแดนไทยจากฝั่งกัมพูชา ซึ่งกองกำลังของเวียตนามที่เข้ามายึดครองกัมพูชาเกือบสองแสนคนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่เคยรบชนะสหรัฐฯในสงครามเวียตนามมาแล้ว ในช่วงนั้น ส่วนใหญ่ก็พูดกันว่าไทยคงไม่มีทางต่อสู้อะไรกับเวียตนามแน่ แต่ทหารไทยด้วยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ก็ได้ปะทะและสกัดกั้นกองกำลังของเวียตนามได้หลายครั้ง และรัฐบาลไทยก็ได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ จีน อาเซียนและพันธมิตร ในการดำเนินการในระดับนานาชาติ เพื่อต่อต้านเวียตนามและช่วยรักษาอธิปไตยของไทยด้วย

ปัจจุบัน หากมีกองกำลังรุกล้ำเข้ามาตามแนวชายแดน เช่น กองกำลังของชนกลุ่มน้อยตามบริเวณชายแดนไทยเมียนมา กองทัพไทยก็มีประสบการณ์เพียวพอและจะปฏิบัติการตามมาตราการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ตามขั้นตอนและความเหมาะสมกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ในระดับนานาชาติ ก็เชื่อว่า ไทยมีศักยภาพเพียงพอในการรับมือกับภัยคุกคามในภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคต กองทัพไทยคงจะต้องปรับปรุงและยกระดับขีดความสามารถขึ้นไปอีก หากต้องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศให้ดีขึ้น ในระเบียบโลกใหม่หลังสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่มหาอำนาจและพันธมิตรกำลังจะเผชิญหน้ากันมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกประเทศก็ดำเนินการคล้ายๆกันในการป้องกันประเทศ ในกรณีของไทยกับเมียนมานั้น มีกลไกความร่วมมือที่สําคัญ คือ คณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission on Bilateral Cooperation-JC) คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee-JBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee-RBC) และคณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee-HLC) ของฝ่ายทหาร ซึ่งใช้ในการหารือประเด็นปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน เช่น ปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบ ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานเมียนมาและชาวมุสลิมโรฮีนจา รวมถึง ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้ายด้วย

ดังนั้น ปัญหาการบินล้ำแดนเข้ามาดังกล่าว ก็จะได้นำเข้าสู่เวทีและกลไกต่างๆ เหล่านี้ เพื่อร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป

5. ทิศทางจัดการในอนาคต

5.1 แนวโน้มความสัมพันธ์ทั่วไป

ปัจจุบัน ไทยกับเมียนมาถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีตามปกติของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่เคยทำสงครามกันอีกเลยนับรั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนมาในปี 2510 ที่สำคัญ ทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันแต่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อกันและกันหรือทำสงครามกันเหมือนเช่นในอดีตแล้ว ในทางตรงข้าม ทั้งสองประเทศกลับต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ทั้งด้านการค้าการลงทุน ด้านแรงงาน ด้านการตลาด และอื่นๆ

ปัจจุบัน ประชาชนทั้งสองฝ่ายไปมาหาสู่กันมากขึ้น ทุกๆ วัน มีชาวเมียนมาหลายล้านคนทำงานในเมืองไทยร่วมกันคนไทย มีความเข้าใจคนไทย พูดภาษาไทยได้ดี และคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของไทยมากกว่าชาติอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานในภาคต่างๆ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งประมง ทั้งก่อสร้าง ทั้งในภาคบริการ อีกทั้งยังมีที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นแพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ครูบาอาจารย์ และนักเรียนนิสิตนักศึกษา นักท่องเที่ยว รวมทั้งที่มารักษาตัวชั่วคราว หรือที่ได้ตั้งรกรากถาวรอยู่ในเมืองไทยจำนวนอีกไม่น้อย

ทั้งสองประเทศจึงตระหนักถึงอนาคตร่วมกันในหลายๆด้าน รวมทั้งรับรู้ถึงภัยคุกคามร่วมกันในระบบระหว่างประเทศ และเห็นบทบาทของมหาอำนาจที่กลับเข้ามาแทรกแซงในภูมิภาคมากขึ้น อีกทั้งยังเห็นสอดคล้องกันในเรื่องความสงบ สันติภาพ และความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน โดยไม่อยากให้ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยใครง่ายๆ ทั้งหมดนี้ ทำให้อนาคตของประเทศและของประชาชนทั้งสองนั้นผูกพันกันอย่างลึกซึ้งโดยปริยาย

5.2 ความท้าทายในเรื่องความร่วมมือด้านมั่นคง

การล้ำแดนหรือการทำการใดๆ ทั้งตามแนวชายแดนและทั่วไป ที่กระทบกับประชาชนของไทยในด้านความมั่นคงปลอดภัย หรือกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ก็ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากมิตรประเทศหรือเพื่อนบ้าน หรือถ้าเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการขออภัย ถอดบทเรียน และร่วมมือกันวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ มีกลไกต่างๆ ที่พร้อมใช้แก้ปัญหาอยู่แล้ว หรืออาจจะพิจารณาสร้างกลไกเพิ่มเติมอีกก็ได้ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

ในกรณีการล้ำแดนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เกิดความซับซ้อนตามมาอีกหลายประเด็นอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรจะต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดความเป็นกังวล ความสงสัยลง ทั้งเรื่องความพร้อมของกองทัพไทย เรื่องสมรรถนะในการป้องกันประเทศหรือป้องกันน่านฟ้าของกองทัพอากาศ เรื่องขั้นตอนและกระบวนการบังคับบัญชาสั่งการ เรื่องความเชี่ยวชาญชำนาญของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เรื่องขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ และอื่นๆ

ซึ่งทั้งหมดนี้ ในส่วนของเราเอง จะอยู่บนฐานของเรื่องของการตรวจสอบหรือเปิดเผยข้อมูลด้านความมั่นคงและการทหาร หรือการป้องกันประเทศ ที่คงจะต้องทำกันมากขึ้น ทั้งๆที่ ในปัจจุบันก็ได้ตรวจสอบและเปิดเผยกันไปพอสมควรแล้ว แต่เรื่องความมั่นคงสมัยนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องของทหารแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และก็ไม่ค่อยเป็นความลับอีกแล้วในโลกการสื่อสารสมัยใหม่

แต่ข้อมูลดิบแต่เพียงอย่างเดียว หรือข้อมูลตามตำราวิชาการ หรือตามรายงานต่างๆ ที่อยู่ในระบบ อาจจะไม่เพียงพอต่อการตอบคำถามข้างต้นในปัจจุบันแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคม คงต้องทำการสังเคราะห์วิเคราะห์ข้อมูลกัน จากชุดข้อมูลที่ต่างกัน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเชิงลึกกันในเวทีต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่พูดผ่านกันไปมาผ่านสื่อสาธารณะหรือสื่อส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในเรื่องรายละเอียดจริงๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เช่นนี้ รวมทั้งข้อจำกัดที่เกิดขึ้น หรือข้อบกพร่องต่างๆถ้ามี ในการทำหน้าที่ที่สำคัญเช่นนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ มีความจำเป็นที่จะต้องต้องอธิบาย ทำความเข้าใจ และพูดคุยกันเพิ่มขึ้น ในเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น เรื่องหลักปฏิบัติ หรือเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านการทหารทั้งกับเพื่อนบ้าน กับมิตรประเทศในอาเซียน หรือกับพันธมิตรในภูมิภาคอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการสู้รบใกล้ๆบริเวณแนวชายแดน เพราะปัจจุบัน มีการสู้รบหรือปฏิบัติการทางการทหารดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และมีหลายประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ในอนาคต มีแนวโน้มที่เกิดความซับซ้อน หรือความขัดแย้ง หรือมีการแทรกแซงมากขึ้นไปอีก

ในทางการทูตหรือการต่างประเทศของไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ล้ำแดนเช่นนี้ ฝ่ายที่มีหน้าที่และเกี่ยวข้องก็คงจะต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยใช้กลไกที่บูรณาการกัน เพื่อดำเนินการไม่ให้นานาชาติเข้าใจผิด หรือกล่าวอ้าง และมองว่าไทยว่าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาใช้ดินแดนของเรา เพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง อันจะนำมาซึ่งความซับซ้อนและยุ่งยากเพิ่มเติมให้กับเราขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายความมั่นคงของไทยคงจะตระหนักแล้วว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะทหารเท่านั้น ที่มีหน้าที่รักษาอธิปไตย คนไทยโดยทั่วไป รวมทั้งฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมในปัจจุบัน ก็มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้พอสมควร อีกทั้งยังหวงแหนอธิปไตยและอิสรภาพของตนและของประเทศไม่น้อยไปกว่ากัน ที่สำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะยังคงสนับสนุนและต้องการให้กองทัพไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการดูแลรักษาดินแดน อธิปไตย และดูแลความปลอดภัยตามแนวชายแดน เพราะเรื่องความมั่นคงของประเทศนี้ ในแทบทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จ จะไม่มีการเลือกข้างแบบเผชิญหน้ากัน หรือขัดแย้งกัน หรือมีการด้อยค่ากันเพื่อทำลายกัน แต่จะร่วมมือกันแบบไม่มีฝ่าย (bipartisan) เพื่อทำให้ระบบป้องกันประเทศนั้นดีขึ้น เพราะเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติและเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น