xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก จีนเร่งความเร็วในการยุตินโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์ สืบเนื่องจากกระแสประท้วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


การประท้วงที่มหาวิทยาลัยชิงหัว สถาบันการศึกษาโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ทำให้ความไม่พอใจของคนจีนเกี่ยวกับนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์ แผ่ลามเข้าไปถึงเมืองหลวงของประเทศ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Protests hasten Chinese exit from zero-Covid policy
By UWE PARPART
29/11/2022

แหล่งข่าวใกล้ชิดคณะรัฐมนตรีจีน เผยว่า สืบเนื่องจากเหตุประท้วง ปักกิ่งกำลังเร่งรัดการปรับเปลี่ยนนโยบายสู้โควิด จากที่เน้นการป้องกันแบบมาตรการ “โควิดต้องเป็นศูนย์” มาเป็นโฟกัสที่การบำบัดรักษาไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการร้ายแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งก็คือแนวทาง “อยู่ร่วมกับโควิด”

เหตุการณ์ต่างๆ กระตุ้นจีนให้ต้องเร่งรัดตารางเวลาสำหรับการปรับเปลี่ยนโฟกัสในการรับมือกับโควิด โดยมุ่งไปสู่การบำบัดรักษา แทนที่จะเน้นเรื่องการป้องกันอย่างในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวหลายๆ รายซึ่งใกล้ชิดกับคณะผู้นำของคณะรัฐมนตรี (State Council) แดนมังกร

แหล่งข่าวเหล่านี้ย้ำยืนยันกับ เอเชียไทมส์ ว่า มติการตัดสินใจต่างๆ ที่ตกลงกันได้ ตั้งแต่ในช่วงไม่นานนักก่อนหน้าการประชุมสมัชชา 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่จะให้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดนั้นยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้ว การเตรียมการต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมีการเดินหน้าไปตั้งแต่ตอนต้นเดือนตุลาคมแล้ว พวกเขาเผย --แต่มาถึงตอนนี้ จากการที่เคสผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนกำลังพุ่งพรวด และการประท้วงก็มีท่าทีว่าอาจควบคุมไม่อยู่ เรื่องนี้จึงยิ่งทวีความเร่งด่วนมากขึ้นไปอีก

ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวเหล่านี้ ในเรื่องการผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้นอีกนั้น ตอนนี้กำหนดจะให้เริ่มเดินหน้ากันในเดือนมกราคม เมื่อปักกิ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการว่า ความรุนแรงของโควิด ซึ่งถึงขั้นเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) นั้น ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่จากนี้ไป โควิดจะถูกจัดชั้นเป็นโรคติดเชื้อประจำถิ่น (endemic) ซึ่งนี่ก็คือ เป็นการปรับก่อนเวลาที่วางแผนกันเอาไว้ก่อนหน้านี้

พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และพวกผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งกำลังโปรโมตส่งเสริมให้ใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของคนวัยชรา ได้ถูกปฏิเสธบอกปัดกันไปแล้วว่าไม่เอาแนวทางนี้ ส่วนพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นผู้ซึ่งเชื่อว่าต้องโปรโมตส่งเสริมบรรดามาตรการที่ถูกมองว่าเกินเลยไป –นั่นคือไม่สอดคล้องกับคำชี้แนะฉบับใหม่ว่าด้วยแนวทาง 20 ข้อสำหรับการผ่อนคลายนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์ ซึ่งประกาศออกมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน –ก็จะถูกตำหนิตักเตือน ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวเหล่านี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) คาดการณ์ล่วงหน้ากันแล้วว่า ในการประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิดอย่างน่าตื่นตาตื่นใจตามที่มีสัญญาณแพล็มออกมาให้เห็น จีนไม่เพียงจำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องเร่งรีบบรรลุข้อตกลงขอใช้ไลเซนส์การผลิตวัคซีนเทคโนโลยีนี้จากต่างประเทศ ตลอดจนดำเนินการเพื่อนำเข้าวัคซีนประเภทนี้โดยตรงจากต่างประเทศอีกด้วย



เคสผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งพรวด

จวบจนกระทั่งถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แผนการที่กำหนดไว้คือ นำเอามาตรการผ่อนคลายเรื่องโควิดต้องเป็นศูนย์ ที่ประกาศในวันที่ 11 พฤศจิกายน มาใช้ไปจนตลอดช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน (ปลายเดือนมกราคม 2023) และปล่อยไว้อย่างนั้นเพื่อให้การประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress หรือก็คือ รัฐสภาจีน) ในตอนต้นเดือนมีนาคม รวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสภาดังกล่าว เป็นผู้ประกาศยกเลิกเรื่องโควิดต้องเป็นศูนย์

เวลานี้ คลื่นระบาดระลอกใหม่ที่เป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน กำลังแพร่ลามไปอย่างรวดเร็วในแดนมังกร กระทั่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่าระดับเคสสูงสุดที่จีนเคยมีประสบการณ์เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องสั่งล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ทั้งเมือง ดังนั้น จึงทำให้ต้องโยนทิ้งตารางเวลาดังกล่าว ตลอดจนวิสัยทัศน์ซึ่งเน้นให้เกิดความคืบหน้าไปอย่างมีระเบียบ ที่อยู่เบื้องหลังตารางเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความไม่แน่ใจในเรื่องคำสั่งที่ออกมาจากปักกิ่ง พวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงรวนเรแกว่งไปมาระหว่างมาตรการควบคุมแบบเข้มงวดซึ่งใช้อยู่ในเดือนเมษายน กับแบบแผนแนวพินิจที่ผ่อนคลายยิ่งขึ้นอีก กระบวนการอย่างที่กล่าวนี้ปรากฏให้เห็นอย่างรวดเร็วในรูปของการตัดสินใจโดยพลการและไม่คงเส้นคงวา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/11/the-policy-mistakes-behind-chinas-covid-protests/)

การประท้วงขนาดเล็กๆ ที่มุ่งคัดค้านมาตรการล็อกดาวน์และต่อต้านการตรวจหาเชื้อในหมู่ผู้คนจำนวนมหึมา อย่างที่ปรากฏให้เห็นตามท้องที่ต่างๆ หลายหลากในช่วงหลายๆ วันที่ผ่านมา กำลังมีลักษณะของการเคลื่อนไหวประท้วงอย่างเป็นขบวนการ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua) ในกรุงปักกิ่ง เข้าร่วมความเคลื่อนไหวนี้ด้วย และทำให้มันมีลักษณะเป็นการประท้วงทางการเมืองและต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้พบเห็นกันมานับตั้งแต่การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989

แน่นอนทีเดียวว่า นี่คือสิ่งสุดท้ายที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และคณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ของเขาต้องการจะเห็น ขณะที่พวกเขาพยายามที่จะสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณในเรื่องมีความเปิดกว้าง และมีนวัตกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

ความบกพร่องล้มเหลวของนโยบายโควิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความอับจนในเวลานี้

หลังจากประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น สายพันธุ์ดั้งเดิม ตลอดจนการระบาดอีกหลายระลอกที่ติดตามมา โดยวิธีการผสมผสานกันระหว่างการตรวจหาเชื้อในวงกว้างอย่างเข้มงวดและรวดเร็ว กับมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมาย จีนกลับประสบความล้มเหลวในเรื่องการพัฒนาวัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันสูง อย่างเช่น วัคซีนโคมีร์นาที (Comirnaty) ซึ่งดีไซน์ขึ้นมาโดยบริษัทเยอรมัน ไบโอเอ็นเทค (BioNtech) และมีการผลิตกันทั่วโลกอย่างแพร่หลาย

โคมีร์นาที ไม่ได้มีประสิทธิภาพใหญ่หลวงมากมายในการต่อสู้กับพวกสายพันธุ์โอมิครอน ของโควิด-19 แต่อย่างน้อยที่สุดก็ลดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงแบบที่ปกติแล้วต้องเกิดขึ้น ลงไปได้อย่างใหญ่หลวง

พวกวัคซีนจีนที่ใช้เทคโนโลยีตามแบบแผนเดิมๆ อย่างเช่น ซิโนแวค ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงมีประสิทธิภาพด้อยกว่ามากในการต่อต้านสายพันธุ์ดั้งเดิมของโควิดเท่านั้น แต่ยังแทบไม่มีประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงในการต่อต้านโอมิครอน และไม่มีความสามารถในการบรรเทาอาการรุนแรงของการติดเชื้อได้ ดังนั้น เมื่อโอมิครอนออกมาอาละวาด จีนจึงไม่เหลืออะไรเพื่อการป้องกันนอกเหนือจากการล็อกดาวน์ซึ่งกำลังส่งผลกระทบกระเทือนประชาชนหลายร้อยล้านคน

เมื่อมาถึงตอนนี้แล้วจะทำอะไรกันต่อไป? จากการที่เงาปีศาจน่าสยดสยองแห่งการล็อกดาวน์ประเภทซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเซี่ยงไฮ้ในเดือนเมษายน เวลานี้กำลังปรากฏตัวหลอกหลอนเมืองใหญ่ๆ จำนวนมาก และการประท้วงก็เกิดขึ้นมา สัญญาณทั้งหลายทั้งปวงจึงชี้ไปว่า ทีมผู้นำชุดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่รายล้อมว่าที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง กำลังพยายามผลักดัน และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะกำหนดเส้นทางเดิน ให้ไปในเส้นทางของการอยู่ร่วมกับโควิด –อย่างที่ส่วนใหญ่ของโลกได้กระทำกันไปแล้ว

แผนการนี้ คือการมุ่งรวมศูนย์ความพยายามทั้งหมดไปที่การบำบัดรักษาโรค –ลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด แทนที่จะเดินหน้าใช้พวกมาตรการมุ่งป้องกัน ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้ผล และกลายเป็นตัวสร้างความเสียหายใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

(ภาพจากแฟ้ม) โอลาฟ ชอลซ์ (ขวา) ที่เวลานั้นยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ไปเยี่ยมบริษัทไบโอเอ็นเทค เมื่อปี 2001 โดยมี อุกร์ ชาฮีน (ซ้าย) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทให้การต้อนรับ (ภาพจาก Vorwaerts หนังสือพิมพ์ของพรรคโซเชียลเดโมแครต ของเยอรมนี)
ระหว่างการเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ได้นำเอาซีอีโอของบริษัทเยอรมนีรายสำคัญ 12 คนร่วมคณะไปด้วย คนหนึ่งในนั้นคือ อุกร์ ชาฮีน (Ugur Sahin) ซีอีโอของไบโอเอ็นเทค ผู้ผลิตวัคซีนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองไมนซ์ นี่ยากที่จะเป็นแค่เพียงเรื่องบังเอิญ การประสานร่วมมือกันระหว่างเยอรมนีกับจีน เพื่อนำเอาองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในนโยบายใหม่เรื่องโควิดของจีนมาปฏิบัติ เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการกันอยู่

พวกนักลงทุนหุ้นจับทิศทางลมของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในนโยบายโควิดของจีนเอาไว้ได้ จึงพากันเสนอซื้อหุ้นเอ็มอาร์เอ็นเอ กันอย่างดุดันในตอนเที่ยงวันของการซื้อขายในตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) อันที่จริง ราคาหุ้นไบโอเอ็มเทคขึ้นไปแรงตั้งแต่ตอนเช้าวันนั้น หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังทำงานเพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทแดนดอยช์ที่เป็นผู้พัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอขึ้นมาแห่งนี้มีการคืบหน้าในเรื่องการร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนฝ่ายจีน

อีกหลายชั่วโมงต่อมา หุ้นของแคทะเลนต์ (Catalent) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ก็ทะยานขึ้นเช่นกัน เมื่อพวกนักลงทุนคาดคำนวณกันว่าจีนจะต้องเร่งหาประโยชน์จากศักยภาพที่ยังมีเหลือใช้ ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ของทั่วโลกด้วยการซื้อหาวัคซีนประเภทนี้โดยตรงเป็นจำนวนหลายร้อยล้านโดส
กำลังโหลดความคิดเห็น