xs
xsm
sm
md
lg

หมอแนะวิธีรักษา "หมอนรองกระดูก" อย่าหลงเชื่อวิธีไร้มาตรฐาน หลัง อ.เอก ฝ่ามือพลังจิตใช้ถีบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมการแพทย์ ชี้หมอรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากความเสื่อมหรือฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูก หมอประสาทชี้ลักษระอาการ วิธีการรักษามีทั้งกินยา กายภาพบำบัด หากรุนแรงอาจต้องผ่าตัดรักษา มีแบบแผลเล็ก กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว เตือนอย่าหลงเชื่อการรักษาชวนเชื่อ เสี่ยงแย่ลงถึงขั้นอัมพาต

จากกรณี อ.เอก ฝ่ามือพลังจิต ใช้วิธีการตบถีบ รักษาผู้ป่วย ซึ่งมีเรื่องของการอ้างรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ให้ทุเลาลงได้นั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการบุกตรวจและแจ้งเอาผิด 3 ข้อหา 3 กฎหมายไปแล้วนั้น


เมื่อวันที่ 15 พ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ว่า โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลัง จากอุบัติเหตุหรือการเคลื่อนไหวผิดธรรมชาติ เช่น การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง การก้มหยิบของหนัก การออกกำลังกายแบบหักโหมมากเกินไป หรือเกิดในช่วงวัยสูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก อาการมักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณคอและเอว เนื่องจากเป็นกระดูกสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด มีผลทำให้ชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังบางตำแหน่ง เคลื่อนหลุดออกมากดทับเส้นประสาทหรือแม้แต่ไขสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงหรือรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการของการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอร้าวไปตามแขน หรือมือ ตรงตำแหน่งเส้นประสาทที่ถูกกด ในรายที่มีอาการรุนแรง จะส่งผลให้แขนหรือมืออ่อนแรงได้ และอีกกลุ่มคืออาการของการกดไขสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาอ่อนแรง เดินลำบาก ขาตึง ชาตามลำตัวและลามไปที่ขาทั้งสองข้าง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของมือร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง ส่วนอาการปวดคอหรือเอว อาจจะมีร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การตรวจวินิจฉัยและรักษาจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด และส่งตรวจด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เกือบทุกรายโดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา


กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดโดยการประเมินร่วมกันระหว่างแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด เพราะนอกจากการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องรับคำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเจ็บปวด ลดการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังอีกด้วย ในปัจจุบันวิทยาการในการรักษาพัฒนาไปมาก มีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมียังมีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุเลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูก ช่วยให้ขยับ ก้ม เงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ

"ปัจจุบันอาจจะมีวิธีการรักษาทางเลือกอื่นๆ ทั้งที่เป็นการรักษาทางเลือกทั่วๆ ไป และการโฆษณาชวนเชื่อ ผู้ป่วยที่มีอาการและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วและอยู่ระหว่างการรักษา ควรใช้วิจารณญาณและสติพิจารณาตามหลักเหตุผล ก่อนเลือกใช้บริการรักษาแขนงอื่น ๆ เพราะหากเลือกรับบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ นอกจากโรคจะไม่หายแล้ว ยังอาจจะทำให้การกดทับของเส้นประสาท หรือการกดทับของไขสันหลังเป็นมากขึ้น อันอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงจนถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือทุพลภาพได้" นพ.ธนินทร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น