xs
xsm
sm
md
lg

คนดังเมาแล้วขับ กร่างใส่ตำรวจ ภัยร้ายในสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 วันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ คนดังเมาแล้วขับ กร่างใส่ตำรวจ ภัยร้ายในสังคมไทย



ยังคงเป็นข่าวฉาวโฉ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับพฤติกรรมของคนดังนามสกุลไฮโซหรือหน้าที่การงานใหญ่โตที่ละเมิดกฎหมายด้วยการขับรถขณะเมาสุราปริมาณแอลกอฮอล์เกินกำหนดแล้วก่อเหตุพิพาทกับเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านบนถนนแบบไร้สำนึกไม่แคร์สังคม โดยผู้ก่อเหตุดังกล่าวมีทั้งหญิงและชายซึ่งใช้รถหรูราคาแพงระยับเป็นพาหนะทั้งสิ้น

โดยเฉพาะในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น ถึง 2 รายซ้อน เริ่มจากลูกชายรัฐมนตรีช่วยว่าการ ในรัฐบาลชุดปัจจุบันขับรถบีเอ็มหรูฝ่าด่านตรวจ บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 31 เขตจตุจักร กทม. ก่อนที่รถหรูจะแเล่นต่อไปไม่ได้ เนื่องจาก ติดแผงเหล็กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมากั้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ขับขี่ ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นลูกชายของรัฐมนตรี สันติพร้อมพัฒน์ ลงจากรถ เจ้าตัวได้ขัดขืนไม่ยินยอมให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ และโวยวายใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่มีสิทธิ์กระทำการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องตรวจวัดแบบไม่สัมผัสจอเข้าใกล้ปากและจมูก ของลูกชายรัฐมนตรี ผลออกมาก็คือ ปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 183 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

มิหนำซ้ำเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ก่อเหตุไปโรงพัก ลูกชายรัฐมนตรีกลับถูกด่าทอโวยวายแบบไม่ยอมจบ และกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ลักทรัพย์สินของตนไป จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจนำตัวเข้าไปสงบสติอารมณ์ในห้องขัง ก่อนที่ในเช้าวันต่อมา ผู้ต้องหาจะรับสารภาพและถูกส่งฟ้องศาลดำเนินคดี ก่อนจะมีคำพิพากษาตัดสินในทันที

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า โทษจำที่ได้รับ เป็นเพียงการรอลงอาญา มีกำหนด 2 ปีและยึดใบอนุญาตขับขี่ 6 เดือน พร้อมคุมประพฤติตามระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดเมาแล้วขับ มีบทลงโทษเบาเกินไปหรือไม่ หากเทียบกับผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของคนขับที่เมาแล้วขับจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือต้องอยู่ในสภาพของผู้พิการไปตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะซ้ำรอยลูกชายรัฐมนตรีขึ้นมาอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ และกวดขันวินัยจราจร บริเวณถนเลียบมอเตอร์เวย์ แขวงสวนหลัง กทม. ได้มีรถเบนซ์หรูคันหนึ่งขับมาถึงจุดดังกล่าว โดยผู้ขับขี่เป็นหญิง ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจัดเก็บข้อมูลระดับโลกที่มีสาขาอยู่ในประเทศไทย

แม้ในเบื้องต้นผู้ต้องหาคนดังกล่าวจะยินยอมให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งพบว่า สูงถึง 104 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจ ผู้บริหารหญิงคนดังกล่าวได้ขัดขืนการจับกุม ร้องด่าทอพร้อมกับถ่ายคลิปวีดีโอ ก่อนจะใช้เท้าถีบหน้ารองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งเข้ามาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจ

ในเวลาต่อมาที่สถานีตำรวจ หญิงสาวคนดังกล่าวได้ยอมรับสารภาพในความผิด เมาแล้วขับ แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และจากการตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ผู้ต้องหารายนี้เคยถูกจับกุมจากการกระทำผิดฐานเมาแล้วขับมาแล้ว เมื่อปี 2565

ดังนั้นจึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การกระทำผิดซ้ำ ในช่วงที่ห่างกัน ไม่ถึง 2 ปี จะมีบทลงโทษที่หนักขึ้นหรือไม่ รวมทั้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และขัดขืนการจับกุมจะมีการดำเนินคดี ด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หญิงสาวคนดังกล่าวมีประวัติส่วนตัวที่น่าสนใจไม่น้อย กล่าวคือจบการศึกษาปริญญาเอก มีประสบการณ์ด้านไอทีกว่า 20 ปี เคยเป็นผู้บริหารบริษัทไอทีชั้นนำ และเป็นอาจารย์พิเศษด้านโทรคมนาคม แต่น่าเศร้าใจที่คุณสมบัติเหล่านี้ ไม่อาจช่วยบ่มเพาะทัศนคติที่จะไม่ขับรถขณะเมาสุราของเธอได้เลย

ที่สำคัญก็คือ บริษัท google ได้ออกมาแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้นทันทีว่า หญิงสาว เพิ่งจะลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท google ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่มีการให้รายละเอียดว่า การลาออกดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่เธอถูกตัดสินว่า มีความผิดใน ข้อหาเมาแล้วขับ เมื่อปี 2565 หรือไม่

แต่สิ่งที่น่าสังเกต และเป็นเรื่องที่สังคมคาใจมากที่สุดก็คือ เหตุใดจึงไม่มีการเปิดเผยชื่อนามสกุล และหน้าตาของผู้ต้องหาในคดีเมาแล้วขับที่เป็นคนดังเหล่านี้ เหตุใดสื่อมวลชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องปกปิดตัวตนของคนที่ไร้สำนึก และเป็นอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์บนท้องถนน

เพราะถึงแม้ว่าบทลงโทษทางกฎหมายจะไม่อาจสร้างความยำเกรงให้แก่ผู้ที่จะกระทำความผิดได้ แต่การเปิดเผยตัวตนที่มีผลกระทบถึงวงศ์ตระกูลและครอบครัว ก็ถือเป็นบทลงโทษทางอ้อมที่ร้ายแรงและสาสมกับพฤติกรรมของคนเหล่านั้น และอาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไปของคนเมาแล้วขับที่จะต้องมีอยู่ในสังคมไทยต่อไป ในฐานที่เป็นภัยสังคม ขึ้นอยู่กับว่าผู้เคราะห์ร้ายรายต่อไปจะเป็นใครเท่านั้นเอง

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
กำลังโหลดความคิดเห็น