พระราม 2 อีกแล้วเหรอ? ได้ยินคำนี้ รู้เลยว่าต้องมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าปกติถนนพระราม 2 หรือ ทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี - ปากท่อ) นั้นมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะถือเป็นถนนสายหลักลงสู่ภาคใต้ จึงมีทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุกใช้กันอย่างหนาแน่นหรืออาจจะมากที่สุดในประเทศไทยเลย จากข้อมูลเมื่อปี 2566 พบว่าปริมาณจราจรช่วงดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอก เฉลี่ยจำนวน256,000คัน/วันส่วนช่วงบางขุนเทียน-สมุทรสงครามมีเฉลี่ย130,000คัน/วันและช่วงสมุทรสาคร-วังมะนาวมีเฉลี่ย80,000คัน/วันขณะที่ เสาร์-อาทิตย์มีสูงถึงเกือบ 400,000คัน/วัน
ทำให้ที่ผ่านมา กรมทางหลวง มีโครงการก่อสร้างปรับปรุง ซ่อมแซม รวมถึง ขยายช่องจราจรเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า มีการตั้งงบประมาณทุกปีสำหรับขยายถนนพระราม 2
จนได้รับฉายาว่า ถนนเจ็ดชั่วโครต เพราะก่อสร้างไม่เสร็จเสียที ขณะที่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการก่อสร้าง 2 โครงการขนาดใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท คือ ทางยกระดับพระราม 2 หรือ โครงการก่อสร้างบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว)ระยะทาง 24.6 กม. มูลค่า 30,200 ล้านบาท ของกรมทางหลวง และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3- ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มูลค่า 30,000 ล้านบาท
@“สุริยะ”ขีดเส้น พ.ย. 68 ต้องปิดจ๊อบ ทุกสัญญา
ช่วงปี 2566 นายสุริยะจึงรุ่งเรืองกิจรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับผู้บริหาร กรมทางหลวง การทางพิเศษฯ และผู้รับเหมาก่อสร้างทุกโครงการบนถนนพระราม2ไล่เรียงปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า และการเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ พร้อมกับได้สั่งการให้ทุกโครงการฯและทุกสัญญาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.2568 แต่ต่อมามีการเลื่อนไปเป็นเดือนพ.ย. 2568 เนื่องจากพบว่าหลายสัญญา มีปัญหาอุปสรรคเรื่องการปรับแบบ การรื้อย้ายสาธาณูปโภค
อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ก่อสร้างได้ช้า เพราะ ถนนพระราม 2 มีปริมาณจราจรหนาแน่นตลอดวัน ทำงานยาก มีความเสี่ยงสูง งานก่อสร้างจะไปเน้นช่วงเวลากลางคืน ที่มีการปิดเบี่ยงจราจรหลัง 22.00 น.-05.00 น. แต่เมื่อมีคำสั่งเร่งรัด จึงมีการขยับเวลาปิดจราจรเร็วขึ้น โดยช่วงที่ก่อสร้างทาวด่วนพระราม 3-ดาวคะนองฯ ปิดจราจรเร็วขึ้นเป็น 21.00 -05.00 น. ส่วนช่วงนอกเมือง ตั้งแต่ ถนนวงแหวนรอบรอก-มหาชัยเมืองใหม่ - บ้านแพ้ว ปิดตั้งแต่ 20.00 น. และเมื่อเดือนก.พ.2568 เลื่อนปิดเร็วขึ้นเป็น 19.00 น. ถึง 05.30 น.
“ผลจากการปิดถนนเร็วขึ้น ทำให้ถนนพระราม 2 จราจรวิกฤติหนักมากโดยเฉพาะช่วงค่ำ”
@อัพเดทก่อสร้าง 4 โครงการ 18 สัญญา
หากแยกย่อยตามงบประมาณประมูล งานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 จะมี 4 โครงการฯ รวมทั้งหมด 18 สัญญา ซึ่งมีเป้าหมายให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2568 เริ่มที่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กม. รับผิดชอบโดย กทพ. ภาพรวมผลงาน ณ เดือนก.พ. 2568 คืบหน้า 87.76 % แบ่งการก่อสร้าง 4 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 (กม.13+000-กม.6+600) ระยะทาง 6.369 กม. มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ซีวิล เอนจีเนียริง) ค่าก่อสร้างตามสัญญา 7,350 ล้านบาท
เริ่มสัญญาวันที่ 10 ม.ค.2565 -วันที่ 25 ต.ค. 2567 ขยายตามมาตรการโควิด ค่าปรับ 0% ไปสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 2568 ผลงาน ณ เดือนก.พ. 2568 คืบหน้า 83.63 %
ปัญหาอุปสรรค มีการปรับรูปแบบก่อสร้างบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เนื่องจากแบบเดิมตามสัญญาติดอุปสรรคจากโครงสร้างและสาธารณูปโภค พื้นที่ก่อสร้างมีจำกัดและข้อจำกัดช่วงเวลาทำงานได้เฉพาะเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) ตามมาตรการ Double Safety
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 (กม. 6+600-ทางแยกต่างระดับดาวคะนอง) ระยะทาง 5.3 กม. มีกลุ่มไชน่าฮาร์เบอร์ฯ-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท
เริ่มสัญญาวันที่ 6 พ.ค. 2563 -วันที่ 19 ก.ค. 2566 ขยายตามมาตรการโควิด ค่าปรับ 0% ไปสิ้นสุดวันที่ 9 ต.ค. 2568 ผลงาน 95.02 %
ปัญหาอุปสรรค พื้นที่ก่อสร้างมีแนวสาธารณูปโภคค่อนข้างมาก มีพื้นที่ก่อสร้างจำกัด เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง จำกัดเวลาทำงานเฉพาะเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) ให้รับจ้างเพิ่มกำลังคนและเครื่องจักร
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง -เชิงลาดสะพานพระราม 9 ( กม. 11+691-กม.16+695 ) ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ร่วมกับ บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 7,359.3 ล้านบาท
เริ่มสัญญาวันที่ 10 ม.ค. 2565 -วันที่ 25 ต.ค. 2567 ขยายตามมาตรการโควิด ค่าปรับ 0% ไปสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 2568 ผลงาน 84.28 %
ปัญหาอุปสรรค พื้นที่ก่อสร้างอยู่ชิดกับบ้านเรือนประชาชน ไม่สามารถก่อสร้างได้เต็มเวลา จำกัดเวลาทำงานเฉพาะเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) แต่มีผลกระทบเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนของเครื่องจักร ช่วงคร่อมทางด่วนเฉลิมมหานคร ทำได้เฉพาะช่วงกลางคืน ทีมีการปิดจราจร
ได้เร่งรัดการก่อสร้าง คาดทางขึ้น-ลง (ด่านฯ สุขสวัสดิ์) แล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2567 เพื่อเปิดใช้งานร่วมกับ สะพานทศมราชัน หรือสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ส่วนทางหลัก (Mainline) เสร็จเดือน พ.ย. 2568
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างช่วงสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร และงานทางด่วน ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2 กม. มี บมจ. ช.การช่าง เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินโครงการ 6,636 ล้านบาท แล้วเสร็จ 100% แล้ว
เปิดใช้สะพานทศมราชัน หรือสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568
สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงิน 877 ล้านบาท กทพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตประกวดราคาก่อสร้าง
@กรมทางหลวง สร้างมอเตอร์เวย์ M 82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว แบ่ง 13 สัญญา
ส่วนกรมทางหลวง รับผิดชอบ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 แบ่งงานเป็น ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. และระยะที่ 2 ช่วง เอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. เป้าหมายงานโยธาแล้วเสร็จในธ.ค. 68 โดยทั้งสายทางมีแผนที่จะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2570 เนื่องจาก ต้องมีการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง (O&M) ด้วย
ปัจจุบัน งานโยธาก่อสร้างคืนหน้า 70.27% ล่าช้ากว่าแผน 11.10% โดยแบ่งออกเป็น 13 สัญญา ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย มี 3 สัญญา เริ่มงานเมื่อเดือนส.ค. 2563 ภาพรวมปัจจุบันคืบหน้า 97.15% ประกอบด้วย
สัญญา 1 ช่วงกม.ที่ 11+959 - กม.ที่14+535 ระยะทาง 2.575 กม. วงเงิน 3,994 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า เอ็นทีเอ (กลุ่ม บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการร่วมกับ บจ.เทิดไท แอนด์ โค เอส แอสโซซิเอทเอนยิเนียริ่ง (1994) ร่วมทุน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 98.13% คาดว่าจะแล้วเสร็จ มี.ค.68
สัญญา 2 ช่วงกม.ที่ 14+535 - กม.ที่18+642 ระยะทาง 4.1 กม. วงเงิน 3,991 ล้านบาท มีบจ. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้างคืบหน้า 98.41% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.พ.68
สัญญา 3 ช่วงกม.ที่ 18+642 - กม.ที่ 20+295 ระยะทาง 1.65 กม. วงเงิน 2,491 มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้างคืบหน้า 98.73% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.พ.68
โครงการระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว จำนวน 10 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1 ระยะทาง 2.179 กม. วงเงิน 1,757 ล้านบาท มีบจ.อุดมศักดิ์เชียงใหม่เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 78.66% คาดแล้วเสร็จ พ.ย.68 , สัญญา 2 ระยะทาง 2.196 กม. วงเงิน 1,861 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ากรุงธน-ไทย (ประกอบด้วย บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ และบจ.ไทย เอ็นยิเนียร์) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 73.44% คาดเสร็จใน ส.ค.68 , สัญญา 3 ระยะทาง 1.064 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,910 ล้านบาท กิจการร่วมค้าวีเอ็น (ประกอบด้วย บจ.จิตรภัณฑ์ และบจ.นภาก่อสร้าง) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 77.21% คาดเสร็จ ส.ค.68 , สัญญา 4 ระยะทาง 1.264 กม. วงเงิน 1,876 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 55.53% คาดเสร็จพ.ย.68 , สัญญา 5 ระยะทาง 1.666 กม. วงเงิน 1,903 ล้านบาท มี บจ.บางแสนมหานคร เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 82.96% คาดเสร็จส.ค.68
สัญญา 6 ระยะทาง 1.108 กม. วงเงิน 1,865 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ายูเอ็น-เอเอสไอ (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบจ.อสิตากิจ) เป็นผู้รับจ้างคืบหน้า 54.84% คาดเสร็จพ.ย.68 , สัญญา 7 ระยะทาง 1.435 กม. วงเงิน 1,868 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 45.94% คาดเสร็จ พ.ย.68 , สัญญา 8 ระยะทาง 2.159 กม. วงเงิน 1,910 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีซีเดสพี-เดอะซีอีซี (ประกอบด้วย บมจ. ซีวิลเอนจิเนียริและบจ.เดอะ ซี.อี.ซี. คอนสตรัคชั่น) เป็นผู้รับจ้างคืบหน้า 77.98% คาดเสร็จ ส.ค.68 , สัญญา 9 ระยะทาง 2.145 กม. วงเงิน 1,859 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเอ็มซี-ทีบีทีซี (ประกอบด้วย บจ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น และ บจ.กิจการร่วมค้า ทีบีทีซี) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 87.78% คาดเสร็จส.ค.68 , สัญญา 10 ระยะทาง 1.134 กม. วงเงิน 1,946 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอส.เค. (ประกอบด้วย บจ.เสริมสงวนก่อสร้าง และบจ. เค อาร์ ซี ทรานสปอร์ต แอนด์เซอร์วิส) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 71.65% คาดเสร็จพ.ย.68
อีกโครงการเป็นงานก่อสร้าง ทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 595 ล้านบาท มีบริษัท คริสเตียนนีและนิลเส็น (ไทย) จำกัด เป็น ผู้รับจ้าง ภาพรวมผลงาน ณ เดือนก.พ. 2568 คืบหน้า 72.12 %
@5 ปี อุบัติเหตุก่อสร้างดับ 17 ชีวิต บาดเจ็บครึ่งร้อย
การมีโครงการมอเตอร์เวย์และทางด่วน บนถนนพระราม 2 ช่วง ที่ผ่านมาทำให้เกิดอุบัติเหตุที่มาจากการก่อสร้างมากกว่า 11 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 13 ราย โดยเหตุล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2568 เวลา 01.30 น. เกิดเหตุโครงสร้างคานสะพานทางด่วนสายพระราม 3 -ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง บริเวณก่อนถึงด่านดาวคะนอง เกิดถล่มลงมาขณะที่กำลังเทคอนกรีต ทำให้แผ่นพื้นทางด่วนทั้งชิ้นถล่มลงมากระแทกพื้นทางยกระดับของทางด่วนสายเฉลิมรัชมงคลที่อยู่ด้านล่างพังเสียหายไปด้วย
ครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 24 ราย มีเสียชีวิต 5 ราย โดยเป็นคนไทย 3 คน แรงงานต่างด้าว 2 คน ยังดีที่เป็นการทำงานตอนกลางคืนที่ปิดการจราจรทั้งหมด จึงไม่มีรถใช้เส้นทาง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ผู้รับเหมาจะต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหายและค่าเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตรายละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท พร้อมกับสั่งให้ การทางพิเศษ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งกำหนดแนวทางด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด
ส่วนมาตรการสมุกพกผู้รับเหมา จะใช้ในเดือนเม.ย.2568 หากพบผู้รับเหมากระทำความผิด จะสั่งให้หยุดรับงานทันที และไม่สามารถประมูลงานได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และหลังจากนั้นจะพิจารณาออกมาตรการจัดการผู้ควบคุมงาน เพื่อให้มีบทลงโทษเช่นเดียวกัน พร้อมกับยืนยัน ทุกโครงการที่ก่อสร้างบนถนนพระราม 2 จะแล้วเสร็จทั้งหมดก่อนสิ้นปี 2568 อย่างแน่นอน
ย้อนไปแค่ 3 เดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2567 ช่วงประมาณตี 4 ก็เพิ่งเกิดเหตุคานปูนและเครน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการมอเตอร์เวย์ M 82 ช่วงเอกชัย -บ้านแพ้ว ตอน 1 พังถล่มลงมา ใกล้แยกมหาชัยเมืองใหม่ ครั้งนั้น มีคนงานทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าวรวม 39 คน กำลังทำงาน โดยมีผู้บาดเจ็บ 10 ราย เสียชีวิตถึง 4 ราย
ปัจจุบัน กรมทางหลวงยังอยู่ระหว่างสอบสวนหาสาเหตุ ส่วนผู้รับเหมากลับมาทำงานตามปกติแล้ว
และเหตุล่าสุดที่คานสะพานทางด่วนสายพระราม 3 -ดาวคะนองถล่ม ทางผู้ว่าฯการทางพิเศษ จะเร่งตั้งกรรมการตรวจสอบ สาเหตุและหาผู้รับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้มีโครงสร้างทางด่วนเดิมเสียหายด้วย เบื้องต้นมั่นใจว่าแบบก่อสร้างไม่มีปัญหา คาดว่าจะเป็นขั้นตอนการก่อสร้างผิดพลาด และย้ำว่า ต้องหาสาเหตุที่ชัดเจนให้ได้ก่อนเพราะหากจะก่อสร้างต่อไป ต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก
@ย้อนอดีต 55 ปี ซ่อม-สร้าง”พระราม 2“ไม่เคยพัก
ย้อนเวลาพระราม 2 เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2513 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ครั้งแรกสร้างเป็นถนนสองเลนสวนกัน ต่อมาช่วงปี 2532-2537 มีการขยายเป็น 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ)และก่อสร้างทางแยกต่างระดับอีก 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว
ปี 2539 - 2543 ก่อสร้างขยายเป็น 14 ช่องจราจร ไป-กลับ (ทางหลัก 8 ช่องจราจร ทางขนาน 6 ช่องจราจร) ตั้งแต่สามแยกบางปะแก้ว-แยกต่างระดับบางขุนเทียน
ปี 2544-2546 ก่อสร้างขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 และ 10 ช่องจราจร ตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ระยะทาง 22 กม.เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการก่อสร้างช่วงดาวคะนองและถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกจากบางบัวทอง - บางขุนเทียน
ปี 2549-2552 ก่อสร้างขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 6-8 ช่องจราจร ไปถึงแยกต่างระดับวังมะนาว
ปี 2561-2563 ก่อสร้างขยายถนนพระราม 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน - แยกเอกชัย จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร
ปี 2561 - 2564 ปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย
ปี 2562 - ปัจจุบัน เริ่มโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M82 ช่วง บางขุนเทียน - เอกชัย
ปี 2563 - ปัจจุบัน ก่อสร้างโครงการทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง
ปี 2564 -ปัจจุบัน ก่อสร้างทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ปี2565 -ปัจจุบัน ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M 82 ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว
@ซอยประมูล เปิดรายเล็กรับงานใหญ่ สะท้อนศักยภาพผู้รับเหมา
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กระทรวงคมนาคม มีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก มีเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท หนึ่งในนั้นคือ โประเจ็กต์พระราม 2 มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้วงการผู้รับเหมาคึกคักอย่างมาก ขณะที่มีการแบ่งซอยงานออกเป็นหลายสัญญาเพื่อเปิดกว้างให้ผู้รับเหมารายเล็ก รายกลาง ร่วมประมูลได้ เช่น ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม.ที่มีถึง 10 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 1-2 กม.เท่านั้น
ปี 2563 เกิดโควิด ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ งานก่อสร้างหยุดชะงัก ส่งผลกะทบทำให้ผู้รับเหมาบางรายมีปัญหาขาดสภาพคล่อง แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะกลับเป็นปกติแล้วแต่ สถานะการเงิน รวมไปเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ของผู้รับเหมา ยังต้องใช้เงินทุนในการฟื้นฟู เหล่านี้อาจจะมีผลต่อการทำงาน ยิ่งกระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าหมายให้งานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เสร็จสิ้นในเดือนพ.ย. 2568 ประกอบกับความยากในการทำงาน คุณสมบัติและศักยภาพของผู้รับเหมาในแต่ละโครงการจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องให้ความสำคัญมากกว่าการแบ่งเค้ก…แจกงาน!!!