ภาวะ “หนี้สิน” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ “ครู” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขมากเป็นลำดับ แต่นอกจากจะไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว สถานการณ์ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก กระทั่งกลายเป็นอาชีพที่ถูก “ฟ้องล้มละลาย” และเสี่ยง “ถูกให้ออกจากราชการ” มากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดา “ข้าราชการ” ในกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ
นายณรินทร์ ชำนาญดูนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ฉายภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันข้าราชการไทยมีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ข้าราชการครู” ที่กำลังเผชิญวิกฤตการเงินถึงขั้นจ่อถูกฟ้องล้มละลาย แถมข้าราชการครูจำนวนไม่น้อยยังตกอยู่ในภาวะ“หนี้ซ้ำซ้อน”คือเป็นหนี้ทั้งกับ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู”และเป็นหนี้กับ “สถาบันการเงิน”ควบคู่กัน
ทั้งนี้ มีข้อมูลเปิดเผยว่า ปี 2567 มีข้าราชการถูกฟ้องล้มละลายกว่า 7,000 คน ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 14,000 คน และในจำนวนนี้เป็นข้าราชการครูกว่า 5,000 คน ครองสัดส่วนเป็นอันหนึ่งของข้าราชการไทย
นั่นหมายความว่า หากคดีเป็นที่สิ้นสุด ครูที่ต้องคำพิพากษา “ให้ล้มละลาย” ก็เป็นต้องยุติชีวิตการรับราชการไปโดยปริยาย
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาสำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าจะดำเนินการอย่างไร
โดยแนวทางเบื้องต้นนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ร่วมหารือเพื่อ “ปรับแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547”ใหม่ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกฟ้องล้มละลายไม่ต้องออกจากราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้อง
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า “ไม่ควรให้ออกจากราชการ” เพราะเป็นการล้มละลายที่ไม่ใช่การทุจริต ซึ่งเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ดังนั้น ข้าราชการครูควรได้รับโอกาสในการทำงานต่อไป อีกทั้งหากถูกบังคับออกจากราชการ นอกจากรัฐสูญเสียบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นซ้ำเติมข้าราชการครูให้เสียช่องทางการหารายได้ ก่อภาระทางการเงินเพิ่ม
“กรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีข้าราชการที่ถูกให้ออกจากราชการจำนวนมาก จึงควรเร่งผลักดันเพื่อให้กฏหมายมีผลบังคับใช้เร็วที่สุด หากช้าไปกว่านี้ ก็อาจทำให้มีข้าราชการเดือดร้อน ถูกฟ้องล้มละลาย ต้องออกจากราชการ เพราะกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง และหากถูกให้ออกแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นข้าราชการได้อีก” นายณรินทร์กล่าว
ขณะเดียวกันจะมีการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเป็นผู้แลภาพรวมของข้าราชการทั่วประเทศ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เพื่อผลักแก้ปัญหา ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนกฏหมายที่ช่วยเหลือข้าราชการในทุกสาขาอาชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียกวันอีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถานการณ์การแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการครูนับเป็นวาระใหญ่เร่งด่วนวาระดับชาติ หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ทำคลอดนโยบายเพื่อลดภาระทางการเงินแก้หนี้ครูอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2568 เห็นชอบแนวทางการขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่ง แจ้งข้อมูลครูที่อยู่ระหว่างกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีแนวโน้มว่าจะถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย (กลุ่มวิกฤต) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
รวมทั้งเห็นชอบให้ตั้งสหกรณ์กลาง ภูมิภาคละ 1 แห่ง รวม 5 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดกาญจนบุรี ภาคใต้ ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออก ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดสระแก้ว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้ ในส่วนกลาง ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยเน้นการช่วยเหลือครูที่ประสบปัญหาการถูกหักเงินเดือนจนเหลือรายรับสุทธิต่ำกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลโดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังได้ออกมาตรการลดหย่อนหนี้ โดยผู้กู้จะได้รับส่วนลดต้นเงิน (เงินต้น) 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
ประการสำคัญ มีการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการเสนอให้เพิ่มข้อความ “การหักเงินตามวรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐต้องคำนึงถึงประโยชน์ในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหน่วยงานนั้น โดยการหักเงินเพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์จะต้องคงเหลือเงินเดือนสุทธิของสมาชิกหลังจากหักเงินดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30” เป็นวรรคสี่ของมาตรา 42/1 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553
รวมทั้งแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2550 โดยขอให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมความในข้อ 30 วรรคหนึ่ง “การจ่ายเงิน มิให้ส่วนราชการผู้หักเงินไว้เพื่อการใดๆ เว้นแต่จะมีหนังสือยินยอมจากข้าราชการ หรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ เพื่อชำระเงินให้แก่สหกรณ์ที่จัดตั้งโดยส่วนราชการและค่าสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ หรือชำระตามข้อผูกพันกับทางราชการเท่านั้น โดยเพิ่มเติม “ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของข้าราชการ การหักเงินดังกล่าวจะต้องคงเหลือเงินสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30”
ตามข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 มีผู้สมัครเข้าระบบสถานีแก้หนี้ จำนวน 7,762 ราย โดยเป็นครูที่อยู่ในกลุ่มสีแดง มีเงินเดือนเหลือหรือน้อยกว่า 30% จำนวน 6,250 ราย (มีสถานะถูกฟ้อง 1,030 ราย และไม่ถูกฟ้อง 5,220 ราย) และกลุ่มสีเหลือง มีเงินเดือนมากกว่า 30% จำนวน 1,512 ราย
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการแก้หนี้ครูปี 2567 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการแก้ไขสำเร็จแล้ว 1,640 ราย และมีมูลหนี้ที่แก้ไขสำเร็จรวมกว่า 4,920 ล้านบาท นอกจากนี้ ข้อมูลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของสถานีแก้หนี้ครูระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พบว่ามีการแก้ไขให้ครูในกลุ่มสีแดงมีเงินเดือนเหลือเกิน 30% ได้สำเร็จ จำนวน 2,048 ราย และกลุ่มที่กำลังดำเนินการอีก 6,651 ราย รวมทั้ง พบว่ามีสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่ฯ ที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ 100% มากถึง 40 เขต รวมทั้งสิ้น 655 คน ซึ่งจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไป
“การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั้น เป้าหมายสำคัญคือการที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถติดตามสถานการณ์ ป้องกันไม่ให้ครูต้องประสบปัญหาทางการเงินที่รุนแรงจนถึงขั้นล้มละลาย” นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ระบุ และยืนยันว่า มีวางแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของครูที่ประสบปัญหาหนี้สินให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ ดร.พีระพันธ์ เหมะรัตเลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยถึงการเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ปีที่ผ่านมา มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีที่คู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) อยู่จำนวน 334,795 บัญชี เป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 273,838 ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากธนาคารออมสินในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ อีกด้วย
ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อไหร่ “ครูไทย” จะสามารถก้าวพ้นจากภาวะ “หนี้สินล้นพ้นตัว” เสียที เพราะจะว่าไป ในปัจจุบัน “อัตราเงินเดือนและผลตอบแทนของครู” ก็ค่อนข้างสูงพอสมควร