จีนสั่งห้ามบริษัทรถใช้คำว่า “การขับขี่อัจฉริยะ” และ “การขับขี่อัตโนมัติ” ในการโฆษณาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ขณะที่มีรายงานการใช้ระบบนี้ผิดวัตถุประสงค์ถี่ขึ้น เช่น บางกรณีถึงขั้นปล่อยให้รถขับเคลื่อนเองโดยไม่สนใจแม้แต่จะมองถนน เนื่องจากวางใจว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ตนปลอดภัยหายห่วง
กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MITI) ออกแถลงการณ์เรื่องนี้หลังประชุมกับตัวแทนจากบริษัทรถยนต์เกือบ 60 คนเมื่อวันพุธ (16 เม.ย.) เพื่อชี้แจงข้อกำหนดใหม่ที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์เกี่ยวกับการอัพเกรดเทคโนโลยีอัตโนมัติโดยไม่ต้องเชื่อมต่อ (over-the-air – OTA) สำหรับรถอัจฉริยะและรถยนต์ที่เชื่อมต่อระหว่างกันหรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น (connected vehicle)
ภายใต้กฎใหม่ บริษัทรถไม่สามารถทดสอบและปรับปรุงระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) ผ่านการอัพเดตซอฟต์แวร์ระยะไกลสำหรับรถที่ส่งมอบให้ลูกค้าแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป แต่จะต้องทำการทดสอบอย่างเหมาะสมเพื่อตรวจยืนยันความไว้วางใจได้ และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลก่อนจึงจะอัพเดตซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าได้
สำหรับการอัพเดตผ่าน OTA ฉุกเฉินจะต้องเป็นกรณีการเรียกคืนรถหรือระงับการผลิต
นอกจากนั้น ผู้ผลิตรถต้องไม่เกี่ยวข้องในการโฆษณาเกินจริงหรือโฆษณาที่ให้ข้อมูลเท็จ ปฏิบัติหน้าที่ในการแจ้งเตือนอย่างเคร่งครัด และรับผิดชอบความสอดคล้องในการผลิต รวมถึงคุณภาพและความปลอดภัย
จากบันทึกการประชุม หัวเว่ยที่จัดหาระบบ ADAS ให้ลูกค้าอย่างน้อย 7 แบรนด์ที่รวมถึงอาวดี้ในจีน เป็นหนึ่งในบริษัทที่ส่งตัวแทนร่วมประชุม
คำสั่งใหม่นี้ออกมาขณะที่บริษัทต่างๆ กำลังเร่งเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่มาพร้อมระบบ ADAS โดยชูฟังก์ชันการขับขี่อัจฉริยะเป็นจุดขายหลักเพื่อต่อสู้ในสงครามราคานองเลือดที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถใหญ่ที่สุดในโลก
ตัวอย่างเช่นบีวายดีที่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเปิดตัวรถอย่างน้อย 21 รุ่น ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์และติดตั้งฟีเจอร์ขับขี่อัจฉริยะ
วันจันทร์ที่แล้ว (14 เม.ย.) ศูนย์วิจัยความปลอดภัยการจราจรบนท้องถนนของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแถลงว่า บริษัทรถที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการปั้นแต่งหรือโฆษณาฟังก์ชันการช่วยเหลือผู้ขับขี่เกินจริงอาจถูกปรับ 5-10 เท่าของค่าโฆษณา หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
นอกจากนั้นโฆษณาที่ใช้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับฟังก์ชันช่วยเหลือผู้ขับขี่ยังอาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอาญา หากนำไปสู่ผลลัพธ์ร้ายแรง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีคนบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งผู้กระทำผิดอาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี
การเปลี่ยนแปลงนี้ยังเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ SU7 ซึ่งเป็นซีดานไฟฟ้าขายดีที่สุดของเสียวหมี่ พุ่งชนรั้วกั้นคอนกรีตบนทางด่วนในเมืองถงหลิง มณฑลอานฮุย เมื่อปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้ไฟลุกท่วม มีผู้เสียชีวิต 3 คน และกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถยนต์ที่ใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ
แถลงการณ์จากเสียวหมี่ระบุว่า ขณะเกิดเหตุรถคันดังกล่าวใช้ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ทว่า ไม่กี่วินาทีก่อนที่จะพุ่งชนรั้วคอนกรีต ระบบได้เตือนคนขับว่า ข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางและเริ่มลดระดับความเร็วลงแต่ไม่ทันการณ์ โดยขณะนั้นรถวิ่งด้วยความเร็ว 97 กม./ชม.
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติในจีนคืบหน้าอย่างรวดเร็ว มีรายงานการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยเหลือผู้ขับขี่ผิดวัตถุประสงค์บ่อยขึ้น เช่น บางคนปล่อยให้รถขับเคลื่อนเองโดยไม่สนใจแม้แต่จะมองถนน เนื่องจากวางใจว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ตนปลอดภัย
ปัจจุบัน หน่วยงานกำกับดูแลของจีนเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจสอบเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่อุตสาหกรรมนี้โตเร็วเกินคาด โดยในปีที่ผ่านมา ยอดขายอีวีและไฮบริดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของยอดขายรถทั้งหมด
หน่วยงานกำกับดูแลยังคุมเข้มมาตรฐานแบตเตอรี่อีวีเพื่อลดความเสี่ยงไฟไหม้และระเบิด
นักวิเคราะห์และแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมตั้งข้อสังเกตว่า การปรับกฎระเบียบเข้มงวดขึ้นจะทำให้ต้นทุนอีวีพุ่งขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการยอมรับเทคโนโลยีนี้ แต่ขณะเดียวกัน อาจช่วยเร่งรัดการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีผู้เล่นแน่นขนัดและต้องฝ่าฟันกับปัญหารถล้นตลาด
ภายหลังการแถลงของ MITI ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในอุตสาหกรรมยานยนต์จีนออกมาแสดงความคิดเห็นที่ตอกย้ำว่า จีนควรควบคุมการโฆษณาฟีเจอร์ช่วยเหลือผู้ขับขี่เพื่อป้องกันการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด
จาง จินหัว ประธานสมาคมวิศวกรรมยานยนต์จีนชี้ว่า ในการทำตลาดระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ บริษัทรถต้องแสดงข้อมูล เช่น ระดับการขับขี่อัตโนมัติ ความสามารถและขอบเขตของระบบอย่างชัดเจน
ฟู ปิ่งเฟิง รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน แนะนำให้ผู้ผลิตส่งเสริมการรับรู้ของผู้ใช้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ด้วยการจัดโปรแกรมให้คำแนะนำที่จำแนกตามกลุ่มผู้ใช้ เช่น กลุ่มผู้ซื้อรถครั้งแรก และกลุ่มผู้ขับขี่สูงวัย