MGR Online - ผู้แทน บ.อิตาเลียนไทยฯ แจงไม่ใช่หน้าที่ผู้รับเหมาตรวจสอบสัญญาผู้คุมงาน-ผู้ออกแบบตึก สตง. ไว้ใจไชน่าเรลเวย์ฯ เพราะเคยร่วมงานโครงการรถไฟความเร็วสูง ด้าน "ดีเอสไอ" รอผลลายเซ็นวิศวกร หลังถูกแอบอ้างชื่อ เผยวิศวกร 7 รายภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ให้การยืนยันไม่ได้เซ็นคุมงาน
วันนี้ (29 เม.ย.) เวลา 18.30 น. อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ร่วมกันแถลงความคืบหน้าทางคดีนอมินี คดีพิเศษที่ 32/2568
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า การตรวจสอบลายมือชื่อผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจเปรียบเทียบลายมือที่ลงนามในแบบกับลายมือของเจ้าตัวที่เซ็นปกติในชีวิตประจำวันทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐาน ส่วนคดีฮั้วประมูลยังคงต้องใช้เวลาสอบปากคำพยาน และรวบรวมพยานหลักฐานอีกสักระยะหนึ่ง ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ส่วนกรณีของนายบินลิง วู ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน หากมีหลักฐานชัดเจน ดีเอสไอก็จะดำเนินคดี โดยเป็นไปได้ว่าอาจขอศาลออกหมายจับได้เลย โดยไม่ต้องออกหมายเรียกผู้ต้องหา
ด้าน พ.ต.ท.อมร เผยว่า สำหรับวิศวกรภายใต้กิจการร่วมค้า PKW คู่สัญญาควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง.ที่นัดมาสอบปากคำในฐานะพยานในวันนี้ รวม 10 ราย สรุปมาทั้งสิ้น 7 ราย โดยแบ่งเป็น 6 รายทำงานอยู่กับบริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด อย่างไรก็ตาม ทั้ง 7 รายนี้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเซ็นชื่อในเอกสารการควบคุมงาน เป็นไปได้ว่าถูกแอบอ้างชื่อและถูกปลอมลายเซ็น
พ.ต.ท.อมร เผยอีกว่า ส่วนการสอบปากคำพยาน นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พบว่าเจ้าตัวให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลค่อนข้างดี โดยสอบปากคำตั้งแต่ประเด็นเริ่มประมูลงาน การทำกิจการร่วมค้า สัดส่วนการแบ่งงานระหว่างบริษัทอิตาเลียนไทยฯ และบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทยฯ จะทำในเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเข็มเจาะ และดูแลส่วนของวิศวกรรมระบบ ส่วนบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะดูเรื่องโครงสร้างทั้งหมด ส่วนผลตอบแทนและค่าจ้างที่ได้รับแบ่งกันตามสัดส่วนหุ้น 49% และ 51%
"โดยประเด็นที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ บอกว่าที่เชื่อใจบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ก็เพราะเคยทำงานร่วมกันในโครงการรถไฟความเร็วสูงมาก่อน หลังจากนี้ดีเอสไอจะนัดหมายเชิญบริษัทผู้ออกแบบ อย่างบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัทผู้ควบคุมงานรายอื่น ๆ มาสอบปากคำในฐานะพยานต่อไป"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างการแถลงข่าวข้อเสนอแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารสำนักงาน สตง. ถล่ม ได้สอบถาม นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กรณีที่มีประเด็นต่างๆ ออกมาทั้งเรื่องของการปลอมแปลงลายเซ็น การแก้ไขแบบแปลน ของอาคาร สตง. เนื่องจากประชาชนอยากฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
โดย นายเกรียงศักดิ์ ตอบคำถามว่า "เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกิจการร่วมค้า เข้าใจไหมครับ มันเป็นเรื่องของผู้ออกแบบกับผู้ควบคุมงาน ซึ่งพวกผมเป็นกิจการร่วมค้า ที่เป็นผู้รับเหมา ไม่ทราบเรื่องนี้เลย"
เมื่อถามต่อกรณีปรากฏลายเซ็น 51 รายชื่อวิศวกรที่เซ็นควบคุมงานก่อสร้าง เป็นลายเซ็นตัวจริงหรือไม่นั้น นายเกรียงศักดิ์ ระบุว่า "เรื่องนี้ตนเองก็ไม่ทราบ เพราะก็เป็นเรื่องของกิจการร่วมค้า PKW ที่เขาเป็นผู้ควบคุมงาน"
เมื่อถามต่อว่าในฐานะที่เป็นผู้เซ็นสัญญาหลัก มีการตรวจสอบรายละเอียดของสัญญาก่อนที่จะมีการจ้างบริษัทต่างๆ หรือไม่นั้น นายเกรียงศักดิ์ ระบุว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของผู้รับเหมาไปตรวจสอบสัญญาอื่น ต้องเข้าใจกันก่อน คือผมเห็นในโซเชียลมีเดียเขียนบางทีเป็นจินตนาการ เกินเลยไปมาก อันนี้ต้องเข้าใจการทำงานก่อน คือ ผู้รับเหมา เป็นห่วงโซ่อาหารสุดท้าย เราอยู่ชั้นต่ำสุด ข้างบนเป็นเจ้าของงาน เป็นผู้ควบคุมงาน เป็นผู้คนออกแบบ พวกนี้เป็นคนสั่งงาน ผมไม่มีสิทธิไปตรวจสอบเขาอยู่แล้ว"
จากนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้พูดตัดบทขึ้นมาว่า ด้วยความเคารพ ส่วนที่เป็นเรื่องคดีขอให้แยกถามต่างหาก เพราะวันนี้เป็นการมาพูดถึงประเด็นเรื่องของการเยียวยา โดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิสื่อในการถามทางกิจการร่วมค้า แต่ขอให้เป็นการแยกสัมภาษณ์ได้ ซึ่งจะไม่มีผลอะไรกับพนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน
ซึ่งภายหลังการแถลงข่าวประเด็นการเยียวยาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้เชิญสื่อมวลชนมารอสัมภาษณ์หน้าห้องประชุม เพื่อรอสัมภาษณ์เพิ่มเติม โดยหลังการหารือเสร็จสิ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทยอยกันเดินออกจากห้องประชุม เพื่อมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม แต่ทางนายเกรียงศักดิ์ ได้แจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ดีเอสไอว่าไม่ประสงค์ที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และระหว่างอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมอยู่ พบว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอมีการปิดประตูไม่ให้เข้าไปภายในห้องประชุม และใช้เวลาการการให้สัมภาษณ์ประมาณ 10 นาที เมื่อเสร็จสิ้นผู้สื่อข่าวที่รอจะสัมภาษณ์ตัวแทนของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เพิ่มเติม แต่ไม่ปรากฎว่าผู้แทนทั้งสองบริษัทออกมาจากห้องประชุม
ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปภายในห้องประชุม แต่ไม่พบผู้บริหารอิตาเลียนไทยฯ และผู้บริหารบริษัท ไชน่าเรลเวย์ฯ จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณหลังห้องประชุมมีประตูที่สามารถทะลุกับบันไดหนีไฟลงไปยังลานจอดรถชั้น G ได้ ทั้งนี้ จึงคาดว่าผู้แทนทั้ง 2 บริษัท ได้หลบสื่อออกทางประตูหลังดังกล่าวไปแล้ว