xs
xsm
sm
md
lg

ความจำเป็นเร่งด่วน ! จีนวางแผนพัฒนาระบบจัดการจราจรในอวกาศ รองรับอุตสาหกรรมดาวเทียมเบ่งบาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


บริษัทจีนหลายรายกำลังพัฒนากลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ - ภาพ : Shutterstock
โครงการยิงดาวเทียมของจีนที่กำลังบูมในปัจจุบัน อาจทำให้มีดาวเทียมลอยอยู่ในวงโคจรมากถึงหนึ่งแสนดวง ซึ่งแน่นขนัดจนเกินไป

ศูนย์สังเกตการณ์และข้อมูลโลกขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เล็งเห็นปัญหาเร่งด่วนนี้ จึงวางแผนพัฒนาระบบเพื่อจัดระเบียบการวางตำแหน่งและการปฏิบัติการดาวเทียมในวงโคจรต่ำของโลกให้ดีขึ้น โดยเตือนว่าหากไม่มีระบบจัดการจราจรสำหรับดาวเทียมแล้ว โครงการยิงดาวเทียมและการแข่งขันที่ซ้ำซ้อนก็อาจกัดเซาะการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้


ข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมระบุว่าจีนมีโรงงานผลิตดาวเทียม 58 แห่ง ซึ่งดำเนินการผลิตได้แล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรืออยู่ในขั้นตอนการวางแผน คาดว่าจีนจะผลิตดาวเทียมได้เกิน 5,000 หน่วยต่อปีภายในสิ้นปี 2568 โดยรัฐบาลจีนมีแผนให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ ซึ่งกำลังสร้างกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่หลายกลุ่มอย่างเต็มที่

โครงการริเริ่มที่สำคัญเหล่านี้ เช่น โครงการสร้างเครือข่ายการสื่อสาร G60 Starlink โดยบริษัท Spacecom Satellite Technology ในเซี่ยงไฮ้ ด้วยดาวเทียมทั้งหมดประมาณ 15,000 ดวง ซึ่ง 648 ดวงเตรียมยิงเข้าสู่วงโคจรภายในสิ้นปีนี้


โครงการกลุ่มดาวเทียมกั๋วหวัง ( Guowang ) ของบริษัท China Satellite Network Group วางแผนปล่อยดาวเทียม 12,992 ดวง และโครงการหงหู-3 ( Honghu-3 ) ของบริษัท LandSpace ตั้งเป้าหมายปล่อยดาวเทียม 10,000 ดวง


นอกจากนั้น อภิมหาโครงการ ซึ่งมีการเสนอเมื่อปีที่แล้วรวมถึงโครงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมอย่างครอบคลุม เพื่อปฏิวัติการสื่อสาร การนำทาง และการสังเกตการณ์ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ เครือข่ายดังกล่าวจะให้บริการแบบเรียลไทม์แก่ผู้ใช้ทั่วโลก ช่วยให้สามารถสื่อสารพร้อมกันได้ผ่านภาพ เสียง หรือวิดีโอสำหรับนักเดินทาง 20 คนขึ้นไป


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว CNSA ยังได้ประกาศการจัดตั้งพันธมิตรด้านนวัตกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ (Commercial Space Innovation Alliance) เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์พัฒนาอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่บริษัทของรัฐสะสมมาแน่นปึกให้แก่บริษัทเอกชนสำหรับนำมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีจรวดและดาวเทียมเพื่อตอบสนองความต้องการในการยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างเพียงพอ


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ / Interesting Engineering

กำลังโหลดความคิดเห็น