xs
xsm
sm
md
lg

เคยเจอมาก่อน!ฟินแลนด์แนะยูเครนสละดินแดนให้รัสเซีย แลกกับความอยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ สตับบ์ แห่งฟินแลนด์ แนะนำให้ยูเครนคงจำเป็นต้องยอมอ่อนข้อแก่รัสเซียบ้าง เพื่อรับประกันความอยู่รอดและคงไว้ซึ่งแรงสนับสนุนทางทหารจากตะวันตก ในขณะที่มอสโกปฏิเสธทางออกใดๆของความขัดแย้ง ที่เปิดทางให้เคียฟยังคงเป็นภัยคุกคาม

เมื่อวันอาทิตย์(27เม.ย.) สตับบ์ แสดงความคิดเห็นกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส เกี่ยวกับหนทางที่จะช่วยทำให้แนวคิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ มีความสอดคล้องกับจุดยืนของเคียฟและพันธมิตรยุโรปในนาโตของวอชิงตันมากกว่าเดิม ในขณะที่วอชิงตันกำลังหาทางประนีประนอมเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เขาเท้าความถึงประวัติศาสตร์คู่ขนานระหว่างยูเครนกับฟินแลนด์ ซึ่งเข้าร่วมนาซีเยอรมนี รุกรานสหภาพโซเวียตในปี 1941 เพื่อทวงคืนดินแดนที่พวกเขาสูญเสียไปในช่วงสงครามฤดูหนาวก่อนหน้านั้น ผลก็คือพวกเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ฟินแลนด์ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการทหารต่างๆนานาและต้องวางตัวเป็นกลางระหว่างสงครามเย็น จนกระทั่งเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกนาโตในปี 2023 หลังจากมีความร่วมมือทางทหารอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯแห่งนี้ มานานหลายปี

สตับบ์ ยังได้สะท้อนถึงความจำเป็นแห่งความเป็นรัฐ, ประนีประนอมด้านดินแดน, ความเป็นอธิปไตยและเอกราช เขาเน้นว่าฟินแลนด์สูญเสีย 2 ใน 3 ขององค์ประกอบนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1940 พร้อมระบุว่า "ถ้าเราได้อย่างน้อยๆ 2 ใน 3 สำหรับยูเครน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เยี่ยมแล้ว"

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือน สื่อมวลชนรายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ต่อมาเคียฟและบรรดาผู้สนับสนุนตะวันตกของพวกเขา ได้ร่างข้อเสนอโต้แย้งของตนเอง ให้ทรัมป์พิจารณา

นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ชี้แนะว่าควรรวมแผนทั้ง 2 เข้าเป็นข้อเสนอเดียวที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ผ่านการ "เขียนร่างอย่างสร้างสรรค์" และถ้าต้องการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับรัสเซีย ทางยูเครนควรได้รับการติดอาวุธครบมือจากบรรดาสมาชิกยุโรปของนาโต ภายใต้การหนุนหลังจากหรัฐฯ พร้อมระบุว่าเป้าหมายในปัจจุบันคือ "ก่อแรงกดดันขั้นสูงสุด" แก่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

รัสเซียมองความขัดแย้งกับยูเครน ว่าเป็นสงครามตัวแทนของนาโต ที่นำโดยรัฐบาลนีโอนาซีในเคียฟ ที่ตะวันตกสนับสนุน

มอสโกวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำๆต่อกรณีที่อียูยังคงเดินหน้าป้อนอาวุธแก่ยูเครน อ้างว่าบรรดาชาติตะวันตกให้ความสนใจกับการเตะถ่วงให้การสู้รบยืดเยื้อมากกว่า แทนที่จะคลี่คลายความขัดแย้งผ่านการทูต

(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น