xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 'ประยุทธ มหากิจศิริ' 24 ปี และ 'อุษณา' ลูกสาว 12 ปี คดีสนามกอล์ฟทับป่าสงวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาจำคุก "ประยุทธ มหากิจศิริ" นักธุรกิจเจ้าของฉายา "เจ้าพ่อเนสกาแฟ" เป็นเวลา 24 ปี คดีสนามกอล์ฟทับป่าสงวนที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ส่วนลูกสาว "อุษณา" จำคุก 12 ปี ล่าสุดประกันตัวไม่ทัน ต้องคุมตัวที่เรือนจำ

วันนี้ (1 พ.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 จังหวัดสุรินทร์ พิพากษาจำคุก นายประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจเจ้าของฉายา "เจ้าพ่อเนสกาแฟ" เป็นเวลา 24 ปี กรณีการออกเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดิน น.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดิน ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มาทำการรังวัดแบ่งแยกและรวมโฉนด ทำให้มีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้น 189 ไร่ จากที่ดินของสนามกอล์ฟเมาน์เท่น ครีก ที่มีเนื้อที่ดินทั้งหมด 2,304 ไร่ ของบริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) ที่มีนายประยุทธ กรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตเกี่ยวกับการออกโฉนดในเขตที่ดินของรัฐ เป็นเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอมาตรา 86 กระทงละ 4 ปี 6 กระทง รวม 24 ปี

ส่วน น.ส.อุษณา มหากิจศิริ ลูกสาวนายประยุทธ พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 12 ปี ฐานเป็นผู้มอบอำนาจให้นำชี้ที่ดินข้างเคียง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 กระทงละ 4 ปี 3 กระทง รวม 12 ปี ส่วนจำเลยรายอื่น ศาลสั่งจำคุกทุกราย ถือเป็นคดีที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ นายประยุทธถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน คดีเอกสารสิทธิ์ จ.กระบี่ไปแล้วก่อนหน้านี้

สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดตั้งแต่ปี 2564 แก่เจ้าพนักงานที่ดินนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว กับพวก 5-6 ราย อาทิ หัวหน้าฝ่ายรังวัด ช่างรังวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกลุ่มบริษัทเอกชน โดยมีชื่อของ นายประยุทธ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาถูกชี้มูลด้วย โดยพบพฤติการณ์ว่า กลุ่มเอกชนได้ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐสอบเขตขยายเนื้อที่ของโฉนดที่ดิน เพื่อนำมาสร้างสนามกอล์ฟ เมาน์เทน ครีก กอล์ฟ แอนด์รีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ นครราชสีมา ถือเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบว่ากลุ่มเอกชนได้ไปซื้อที่ดินที่มีโฉนด และซื้อที่ดินที่ไม่มีหลักฐานก่อนจะนำมาสอบเขต เพื่อนำที่ดินที่ไม่มีหลักฐานนั้นเข้าไปรวมด้วย ซึ่งที่ดินที่ไม่มีหลักฐานมีทั้งอยู่ในเขต ส.ป.ก.และเขตป่าสงวนเพื่อนำไปจัดทำสนามกอล์ฟดังกล่าว ถือว่าร่วมกันการกระทำความผิด แต่เนื่องจากเอกชนไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงถูกชี้มูลความผิดตามมาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมีบางรายโดนมาตรา 149 ด้วย รวมถึงความผิดตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐถูกชี้มูลความผิดตามมาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 149 และมีความผิดวินัยร้ายแรง

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า คดีดังกล่าวมีจำเลยรวม 11 ราย ได้แก่ จำเลยที่ 1 นายกฤษณะพงศ์ พู่สกุลสถาพร อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว รวมโทษจำคุก 42 ปี จำเลยที่ 2 นายเทียมศักดิ์ จินดา อดีตนายช่างรังวัด 7 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายรังวัด รวมโทษจำคุก 30 ปี จำเลยที่ 3 นายชายธง ณ สงขลา รวมโทษจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 4 นายภักดี ภักดีเมฆ อดีตนายช่างสำรวจ ระดับ 6 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ส.ป.ก.นครราชสีมา) รวมโทษจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 5 นายประทีป แสวงลาภ จำคุกรวม 24 ปี จำเลยที่ 6 บริษัท เลควูดคันทรี่คลับ จำกัด ปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 7 บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลสจำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทโพสโค ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) ปรับ 60,000 บาท จำเลยที่ 8 นายฌ็อง ปอล เทเวอรแน็ง สัญชาติฝรั่งเศส กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) จำคุกรวม 12 ปี จำเลยที่ 9 น.ส.อุษณา มหากิจศิริ ลูกสาวนายประยุทธ จำคุกรวม 12 ปี จำเลยที่ 10 นายประยุทธ มหากิจศิริ กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) จำคุกรวม 24 ปี และจำเลยที่ 11 นายจิเทนเดอร์ พอล เวอร์มา จำคุกรวม 12 ปี

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 6 ราย แยกเป็นชาย 5 ราย หญิง 1 ราย ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลมีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่เนื่องจากจนกระทั่งถึงเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลอุทธรณ์แจ้งว่าคำสั่งไม่สามารถส่งมาได้ทัน คาดว่าใช้ระยะเวลา 1-2 วันทำการ จึงได้นำตัวจำเลยทั้ง 6 ราย ไปควบคุมที่เรือนจำกลางสุรินทร์

สำหรับนายประยุทธ มหากิจศิริ เป็นนักธุรกิจเจ้าของฉายา "เจ้าพ่อเนสกาแฟ" เพราะก่อนหน้านี้เคยร่วมทุนกับบริษัท เนสท์เล่ เอส.เอ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด หรือ QCP เป็นผู้ผลิตกาแฟตราเนสกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533 ก่อนที่ เนสท์เล่ เอส.เอ จะยุติสัญญา หลังสัญญาร่วมทุนหมดอายุ และศาลอนุญาโตตุลาการสากลตัดสินให้การยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย โดยมีผลในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 แต่นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ บุตรชายนายประยุทธ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิตว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปโดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé” ในประเทศไทย แต่ภายหลังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า "Nescafe" และ "เนสกาแฟ" ในประเทศไทย และสามารถใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น