จากวิดีโอความยาวเพียง 19 วินาที ที่ถ่ายจากสวนสัตว์ซานดิเอโกเมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี 2005 ใครจะคิดว่าอีก 20 ปีต่อมา โลกเราจะมีวิดีโอกว่า 20,000 ล้านคลิปให้ได้ดูได้ชมทุกเวลาที่ต้องการ เรียกว่าเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้เวลากว่า 50 นาทีต่อวันกับแพลตฟอร์มสุดยิ่งใหญ่อย่าง YouTube
ถามว่า YouTube เปลี่ยนโลกไปอย่างไรบ้างในช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หากมองทั้งด้านบวกและด้านลบ จะพบว่าผลกระทบจาก YouTube ได้เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และแม้แต่สุขภาพจิตของเราทุกคนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอที่มียอดวิวสูงสุดตลอดกาลอย่างเพลงเด็กชื่อดัง “Baby Shark” ซึ่งมียอดเข้าชมทะลุ 1.5 หมื่นล้านวิว หรือวิดีโอตลกของน้องแมว คลิปฮาของนักแสดงตลก หรือความน่ารักของเด็กทารก ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา YouTube ได้สร้างปรากฏการณ์ Do-it-yourself หรือการลงมือทำด้วยตัวเอง ให้กับคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าสามารถแก้ไขทุกปัญหาได้ด้วยความรู้จาก YouTube
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มนี้ยังได้แจ้งเกิดเหล่าคนดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Joe Rogan พิธีกรพอดแคสต์ชื่อดังฝั่งขวา, Sean Evans จากรายการ Hot Ones สุดฮิต หรือจะเป็น Mr. Beast ยูทูบเบอร์สายใจบุญที่เราคุ้นเคยกันดี
แต่ในอีกด้าน YouTube ก็เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่ ผิดพลาดและเป็นอันตราย เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ การแพทย์ สุขภาพจิต อาชญากรรม และการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อย ดังนั้นในโอกาสที่ YouTube มีอายุครบ 20 ปี มหาวิทยาลัยบอสตันได้เผยแพร่บทความรวมการสัมภาษณ์นักวิชาการหลากหลายสาขา ที่บอกเล่าความคิดเห็นเกี่ยวกับ 7 ผลกระทบของ YouTube ที่มีต่อสังคมในปัจจุบัน
1. ปฏิวัติวงการ DIY
Tasker Smith ผู้จัดการอาวุโส ศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์วิศวกรรม มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า YouTube ได้ปฏิวัติการพัฒนาทักษะในหลายด้านของชาวเน็ต ด้วยเนื้อหาที่สามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็วและมีความเฉพาะเจาะจงสูง ทำให้ความรู้ทางเทคนิคเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ต
ซึ่งในอดีต ใครที่ต้องรับมือกับโปรเจ็กต์การทำงานที่ซับซ้อนอาจต้องมีการฝึกอบรมเฉพาะทาง รวมถึงต้องตามล่าหาคู่มือที่หายาก หรือความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่เข้าถึงยาก แต่ในปัจจุบัน บทเรียนสอนละเอียด การสาธิตจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาแบบทันทีทันใด สามารถเข้าถึงได้ภายในไม่กี่วินาที นอกจากนี้ วิดีโอสอนเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับลิงก์ไปยังรายละเอียดการสั่งซื้อ ที่สามารถจัดส่งได้อย่างรวดเร็วด้วยประสิทธิภาพอันน่าทึ่งของบริการอีคอมเมิร์ซ
นอกเหนือจากการให้คำแนะนำทางเทคนิคแล้ว YouTube ยังช่วยเสริมสร้าง ความมั่นใจในตนเอง ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินโครงการให้สำเร็จ การได้เห็นผู้อื่นแบ่งย่อยงานที่ซับซ้อน เอาชนะความท้าทาย และแบ่งปันกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิด ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจกระบวนการต่างๆ อย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้เชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ ปรับตัว และประสบความสำเร็จได้
2. ข้อมูล (ที่ผิด) ด้านสุขภาพ
Monica L. Wang รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า YouTube ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและการแพทย์ของผู้คนอย่างลึกซึ้ง ในด้านบวก YouTube ได้ทำให้การศึกษาด้านสุขภาพเป็นประชาธิปไตย โดยนำเสนอแหล่งข้อมูลฟรีที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น วิดีโอออกกำลังกาย การสาธิตการทำอาหารเพื่อสุขภาพ การจัดการความเครียด และการฝึกปฐมพยาบาล สำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ได้ให้การสนับสนุนที่มีค่าสำหรับการดูแลป้องกัน สุขภาพที่ดี และการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน
ในขณะเดียวกัน YouTube ก็ได้กลายเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ ข้อมูลสุขภาพที่ผิดพลาด (ข้อกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ไม่แม่นยำ หรือทำให้เข้าใจผิด โดยอิงจากหลักฐานที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน) จากการวิจัยพบว่าวิดีโอที่ส่งเสริมข้อกล่าวอ้างด้านสุขภาพที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เข้าใจผิด ตั้งแต่เรื่องเล่าลือเกี่ยวกับวัคซีนไปจนถึงการรักษาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ มักจะได้รับการมีส่วนร่วมมากกว่าเนื้อหาที่อิงตามหลักฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลที่ผิดพลาดแพร่กระจายเร็วกว่าความจริง (เร็วกว่าถึง 6 เท่าตามบางการศึกษา) และบ่อนทำลายความไว้วางใจของสาธารณชนต่อวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุข
แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา YouTube ได้ดำเนินการเพื่อยกระดับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและลบเนื้อหาที่เป็นอันตรายออกไป แต่ความท้าทายยังคงอยู่ เนื่องจากอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมมากกว่าความถูกต้อง ทำให้ข้อมูลที่ผิดพลาดสามารถแพร่หลายได้ง่าย
3. โฆษณาเต็มๆ
Garrett Johnson รองศาสตราจารย์ด้านการตลาด คณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า YouTube ได้ปฏิวัติวงการโฆษณาดิจิทัลด้วยการช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถกำหนดเป้าหมายผู้ชมได้ด้วยระบบ Machine Learning การเข้าถึงนี้ได้กระตุ้นการเติบโตของแบรนด์แบบ Direct-to-Consumer เช่น Dollar Shave Club ซึ่งจากการวิเคราะห์การทดลองแบบสุ่ม 432 ครั้ง พบว่าแคมเปญโดยเฉลี่ย ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับโฆษณาบน YouTube ช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของผู้โฆษณา 17 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่ม Conversion 8 เปอร์เซ็นต์ ผลลัพธ์เหล่านี้ช่วยยืนยันสิ่งที่นักการตลาดคาดการณ์ไว้มานาน นั่นคือ YouTube ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับการสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจที่วัดผลได้อีกด้วย
รูปแบบโฆษณาของ YouTube ยังช่วยสนับสนุนระบบนิเวศของเนื้อหาบนแพลตฟอร์มอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ Harry และ Sona Jho สองสามีภรรยาผู้สร้างช่อง "Mother Goose Club" ซึ่งเป็นช่องสำหรับเด็ก Jhos เข้าร่วม YouTube ตั้งแต่ต้น เพราะเห็นช่องว่างของเนื้อหาที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับลูกน้อย ด้วยรายได้จากโฆษณาบน YouTube บ้าน Jhos ได้สร้างแบรนด์ระดับโลกด้านการศึกษาปฐมวัย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าครีเอเตอร์หลากหลายประเภทสามารถเลี้ยงชีพได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อ YouTube ถูกปรับเป็นเงินจำนวน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ภายใต้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์ของเด็ก (COPPA) และได้ลบการปรับแต่งเนื้อหาสำหรับเด็กทั้งหมด รวมถึงโฆษณาที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล งานวิจัยของเราพบว่าเหตุการณ์ "COPPAcalypse" นี้ ส่งผลให้การผลิตเนื้อหาสำหรับเด็กลดลง 13 เปอร์เซ็นต์ จำนวนการเข้าชมลดลง และครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์หันไปผลิตเนื้อหาที่ไม่ใช่สำหรับเด็กมากขึ้น
4. ไวรัลดาวรุ่ง
Gianluca Stringhini ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า YouTube ได้ปฏิวัติวิธีการบริโภคข้อมูลออนไลน์ของผู้คน ทำให้การสตรีมวิดีโอเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้การค้นหาวิดีโอคอนเทนต์เป็นเรื่องง่าย
ก่อนหน้าที่โลกจะมีเว็บไซต์สตรีมมิ่ง ผู้คนต้องดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอเพื่อรับชม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก และ 20 ปีต่อมา YouTube ยังคงเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักที่ผู้คนใช้ในการรวบรวมข้อมูล แม้แต่บนโซเชียลมีเดียอื่นๆ ลิงก์ YouTube ก็มีอยู่ทั่วไป ข้อมูลวิดีโอมีความทันทีมากกว่าข้อความ และหลายคนชอบที่จะบริโภคข้อมูลในรูปแบบวิดีโอ
ในอีกด้าน YouTube ยังเปิดโอกาสให้ใครก็ได้กลายเป็นคนดัง ผ่านวิดีโอที่ถูกแชร์ และระบบแนะนำวิดีโอที่ใช้พฤติกรรมผู้ชมเป็นตัวตัดสิน แต่ทั้งหมดนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาคลาสสิกเมื่ออัลกอริธึมแนะนำวิดีโอปลอม ข่าวลวง หรือคอนเทนต์สุดโต่ง โดยที่ผู้ชมไม่ได้ตั้งใจจะชม
5. YouTube Shorts สมาธิไม่ต้องมาก
Seungbin Oh ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและเวชศาสตร์พฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า การดูคลิปสั้นบน YouTube Shorts ทำให้คนเสพคอนเทนต์แบบฉาบฉวยขึ้น และอาจส่งผลให้เยาวชนมีสมาธิสั้นลง วิตกกังวลมากขึ้น รวมถึงคุ้นชินกับโลกที่ทุกอย่างต้องรวดเร็วทันใจ จนขาดทักษะคิดวิเคราะห์เชิงลึก
6. เวทีคนดัง
YouTube คือเวทีที่ทำให้ศิลปินอย่าง Ed Sheeran, Justin Bieber หรือแม้แต่ Blackpink ได้แจ้งเกิด
Harvey Young คณบดีวิทยาลัยศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่าไม่ต้องรอรายการเพลง ไม่ต้องพึ่งค่ายใหญ่ เพียงแค่มีไอเดียและอินเทอร์เน็ต ทำให้ YouTube เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการค้นพบศิลปินหน้าใหม่อยู่เสมอ
ลองคิดดูว่ากลุ่มศิลปินอย่าง Blackpink มีผู้ติดตาม 96 ล้านคน หรือศิลปินอย่าง Taylor Swift ที่มีผู้ติดตามเกือบ 61 ล้านคน ล้วนสามารถสร้างผลกระทบที่เทียบเคียงได้กับวง The Beatles ผ่านการมีตัวตนบน YouTube แม้ว่าจะมีช่องโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ มากมายที่แข่งขันกันเพื่อดึงดูดความสนใจก็ตาม YouTube ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการพูดคุยกันในที่ทำงาน ด้วยอัลกอริธึมที่นำเสนอเนื้อหามาให้ชาวเน็ต
7. ด้านมืดของสุขภาพจิต
Hyeouk “Chris” Hahm ศาสตราจารย์และรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กล่าวว่าด้านมืดเรื่องสุขภาพจิตบน YouTube ส่วนใหญ่มาจาก "ยูทูบเบอร์ทั่วไป" มากกว่าผู้เชี่ยวชาญจริง ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิด หรือแม้แต่ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเองคลาดเคลื่อน ดังนั้นชาวเน็ตจึงต้องรู้เท่าทัน และเลือกเชื่อเฉพาะแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ตัวอย่างเช่นการศึกษาหนึ่งที่วิเคราะห์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าบน YouTube พบว่ามีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของวิดีโอที่อัปโหลดโดยผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรด้านสุขภาพจิต ในขณะที่ 36 เปอร์เซ็นต์อัปโหลดโดย Vlogger ผู้มีอิทธิพล ซึ่งหลายคนมีผู้ติดตามหลายพันถึงหลายล้านคน บ่อยครั้งที่ผู้คนถูกดึงดูดไปยังข้อมูลที่น่าสนใจและกระตุ้นอารมณ์มากกว่างานวิจัยที่ผ่านการ peer review
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเกี่ยวกับผลกระทบของ YouTube ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของแพลตฟอร์มนี้ ฉะนั้นในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยี ทุกคนควรใช้วิจารณญาณในการรับชมและเชื่อถือข้อมูลต่างๆ บน YouTube รวมถึงใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนี้อย่างสมดุล เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจาก YouTube โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของผลกระทบด้านลบ.